สปสช.ลงพื้นที่ดูโครงการต้นแบบสาธารณสุขเข้มแข็งจ.เชียงรายและจ.พะเยา

1301

นพ.ชูชัย ศรชำนิ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ให้สัมภาษณ์หลังลงพื้นที่เยี่ยมชมโครงการต้นแบบการจัดการสาธารณสุขที่ดีและยั่งยืน ที่รพ.พาน(รพ.ชุมชน) อ.พาน จ.เชียงราย และโรงเรียนผู้สูงอายุอนุรักษ์ปัญญานุสรณ์ ตั้งอยู่ในพื้นที่ของวัดเชียงทอง(วัดราษฎร์) ต.ท่าวังทอง อ.เมือง จ.พะเยา ซึ่งเป็น เครือข่ายผู้สูงอายุ รวมทั้ง “ศูนย์ฮอมฮักชุมชน หรือ ศูนย์รวมความรักในชุมชน”ดูแลคนพิการ ผู้สูงอายุที่อยู่ห่างไกล ฟื้นฟูสมรรถภาพที่จำเป็นต่อสุขภาพ รพ.พะเยา ที่เข้มแข็ง ระหว่างวันที่ 3-4 พฤษภาคม 2561ที่ผ่านมาว่า ปัจจุบันทิศทางของประเทศหรือสังคมบ้านเราในอนาคตจะมีทั้งผู้สูงอายุและผู้พิการเพิ่มมากขึ้น

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)ซึ่งดูแลสุขภาพคนไทยทั่วประเทศปัจจุบันมีอยู่ประมาณ48 ล้านคนได้ใช้สิทธิในการรักษาพยาบาล หรือ “บัตรทอง” ตามสโลแกน “30 บาทรักษาทุกโรค” เห็นว่า พื้นที่การให้บริการสาธารณสุขทั้ง 2 จังหวัดมีความเข้มแข็งและเป็นตัวอย่างให้กับหน่วยงานสาธารณสุขอื่นๆนำไปประยุกต์ใช้ โดยเฉพาะ นพ.ฑิฆัมพร จ่างจิต ผอ.รพ.พาน อ.พาน จ.เชียงราย มีวิสัยทัศน์ในการดึงชุมชน หน่วยงานรัฐท้องถิ่น(องค์การบริการส่วนท้องถิ่น) เข้ามาร่วมจัดตั้ง “ศูนย์เสริมสุขร่มไทร” ที่หลายคนอาจสงสัยว่าคืออะไร รวมทั้งสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ(ทีดีอาร์ไอ) ซึ่งเป็นมูลนิธิที่ไม่แสวงหากำไร ได้ทำวิจัยและยกให้เป็นต้นแบบเมืองผู้สูงอายุขนาดเล็ก(Senior City)

 

ประกอบกับเมื่อประมาณ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ทางสำนักนายกรัฐมนตรีได้ให้สปสช.ดูพื้นที่เป็นตัวอย่างเข้มแข็งและยั่งยืนในการดูแลผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาส เพื่อในปีงบประมาณ 2562 จะได้สานต่อและทำให้คุณภาพชีวิตทั้ง 3 กลุ่มนี้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะระบบสุขภาพของคนในท้องถิ่น จึงเป็นที่มาของการนำสื่อมวลชนลงพื้นที่ในครั้งนี้

 

 

รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า อีกทั้งยังเป็นการนำสิ่งดีๆเผยแพร่สู่สาธารณชนและทำให้เกิดแรงบันดาลใจที่ดีให้แก่ชุมชนทั้งผู้รับบริการและให้บริการ ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและทุกคนมีสุขภาพดีถ้วนหน้าอย่างแท้จริง ที่เกิดจากความร่วมมือร่วมใจของคนในท้องถิ่นนั้นๆพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิตของทุกคนให้ดีขึ้น ซึ่งประกอบด้วย 4 ฝ่าย คือ 1.บุคลากรทางสาธารณสุขที่อยู่ในรพ. 2. “เครือข่ายชุมชน” เช่น อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) หรือ ชาวบ้านในชุมชนนั้นๆช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

3.องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)ที่เข้าใจถึงปัญหาในชุมชนและต้องการพัฒนาชุมชนของตัวเองอย่างแท้จริง เพื่อให้คนในท้องถิ่นมีความสุข  และ 4.นักวิชาการ จะช่วยดูเรื่องนวัตกรรม การให้ความรู้ การดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพิการ ผู้สูงอายุที่ปกติ ผู้ด้อยโอกาส ให้สามารถเข้าถึงบริการอย่างรวดเร็ว และตนจะนำสิ่งเหล่านี้ไปนำเสนอให้สำนักนายกรัฐมนตรีได้รับทราบต่อไป

 

ด้านนพ.ฑิฆัมพร จ่างจิต ผอ.รพ.พาน เล่าถึงที่มาที่ไปของการเป็นต้นแบบเมืองผู้สูงอายุขนาดเล็กที่รพ.พานทำมาเป็นเวลาเกือบ 20 ปีว่า รู้สึกตื่นเต้น และหนักใจพอสมควร แต่ก็มีความอบอุ่น เพราะเป็นงานที่ใหญ่มาก และยินดีหากสิ่งที่รพ.พานทำเป็นประโยชน์ต่อประเทศ โดยตนอยู่ในวงการสาธารณสุขมาประมาณ 30 ปี อยู่รพ.อำเภอมาตลอด และปีพ.ศ. 2534 ไปเรียนต่อที่คณะสาธารณสุขศาสตร์มหาบัณฑิต ที่มหาวิทยาลัยมหิดล ต่อมาในปีพ.ศ. 2541 ได้ย้ายอยู่รพ.พาน และในปีพ.ศ. 2549 ได้มีโอกาสไปศึกษาต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยทุนองค์การอนามัยโลก ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจจะเป็นจุดทำให้เกิดแนวคิดทำสิ่งเหล่านี้ขึ้น โดยยึดหลักคือ “ทำให้ประชาชนและเพื่อประชาชน” มันเป็นงานที่สะสมมานานมาก

นพ.ฑิฆัมพร เล่าให้ฟังว่า จุดเปลี่ยนนี้เกิดจากกระบวนทัศน์ด้านสาธารณสุข  และมองเรื่องการแพทย์ว่าน่าจะเกิดสุขภาพดีถ้วนหน้าในปีพ.ศ. 2543 หรือ ค.ศ. 2000 แต่ปรากฏว่า “เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทำงานหนักมาก” แต่ “แทนที่จะได้รับคำชมเชย”  “กลับถูกฟ้องร้อง” “ถูกต่อว่า” เรื่องต่างๆเหล่านี้ก็ยังตามมาถึงปัจจุบัน และจะเริ่มหนักขึ้นเรื่อยๆ เพราะมีเรื่องของโซเชียลต่างๆเข้ามา

นพ.ฑิฆัมพร เล่าต่อว่า ทำให้ผมเริ่มทบทวนตัวเองว่า สิ่งที่รัฐบาลตั้งรพ.อำเภอมาเพื่ออะไร ถ้าดูแล้ว “ตามหลัก คือ เป็นที่พึ่งของประชาชนในเรื่องสุขภาพ” สมัยก่อนหากจะพูดเรื่องการบริการสุขภาพคือ รอให้เขาป่วยแล้วค่อยมารักษา ผมก็มาทบทวนตัวเองอีกครั้งในฐานะเป็นผู้อำนวยการรพ.อำเภอว่า “สุขภาพ” มันคืออะไร ตั้งแต่คนป่วยหรือรอให้คนป่วยแล้วรักษา เพราะสิ่งที่ “เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทุกคน” อยากเห็นคือ อยากให้ทุกคนมีสุขภาวะที่ดี เช่น คนที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง ,เบาหวาน  ก็มีความสุขได้ หากมีการคุมที่ดี ส่วนจะซ่อมให้มันดีเหมือนเดิมก็ยาก แนวโน้มเมื่อป่วยก็จะยิ่งสุขภาพไม่ดี บางคนถึงขั้นต้องรอการฟื้นฟู และเมื่อเข้าไปพบเจ้าหน้าที่ก็ต้องเปลี่ยนสรรพนามเขา จึงเกิดคำถามในใจว่า “เขาตั้งเรามาเพื่อทำหน้าที่อะไร” เป็น “ที่พึ่งประชาชนด้านสุขภาพ หรือเก็บเงินเข้าหลวง”

“ผมได้รับคำตอบส่วนใหญ่ คือเก็บเงินเข้าหลวง มากกว่าทำให้ “สุขภาพดีถ้วนหน้า”ซึ่งคือการป้องกันก่อนเป็นโรค อีกทั้งผมได้ เห็นว่าเรื่องสุขภาพของคน ยุโรปจะอายุยืนกว่า เพราะเขาเน้นการป้องกันมากกว่าการรักษา ส่วนสุขภาพของคนในอเมริกาเน้นการรักษามากกว่าการป้องกัน และประเทศไทยเราเริ่มเป็นเหมือนคนอเมริกา จนเกิดหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเกิดขึ้น ที่เน้นเรื่องการป้องกันมากกว่าการรักษา”นพ.ฑิฆัมพร กล่าว

นพ.ฑิฆัมพร กล่าวต่ออีกว่า ปัจจุบันระบบการแพทย์มีการปฏิรูป เพราะเกิดภาพ 1.รพ.แออัดและผู้ให้และผู้รับบริการมีแต่ทุกข์ 2.ธุรกิจการแพทย์เริ่มแทรกเข้ามา และมีราคาแพงโดยไม่จำเป็น 3.รักษาแต่โรคไม่รักษาคน จึงเป็นที่มาของ “ศูนย์เสริมสุขร่มไทร” ของรพ.พาน ก่อตั้งด้วยงบท้องถิ่นและชุมชนที่บริจาคให้รพ.พานเป็นผู้ดูแล ในปีพ.ศ.2549 และเริ่มเปิดบริการในปี 2555  ที่ต้องการให้ศูนย์แห่งนี้เป็นทุกคนทุกเพศทุกวัย หรือ ศูนย์ 3 วัย  พ่อแม่ลูกและปู่ย่าตายายทำกิจกรรมร่วมกัน ทำได้แล้วเกิดสังคมที่มีความสุขอย่างแท้จริง โดยกิจกรรมภายในศูนย์เสริมสุขภาพร่มไทรจะเป็นแบบครบวงจร

มีรีแล็กซ์สปาให้บริการทางแพทย์แผนไทยที่สามารถใช้บัตรทองได้ ฟิตเนสและ สระว่ายน้ำ ห้องสมุดประชาชน  ห้องอาหาร ห้องประชุม และห้องเสริมสวย แต่ละแผนกเวลาการเปิดต่างกันในส่วนของรีแล็กซ์สปา เปิดเช้าหน่อยเพื่อรองรับผู้ใช้บริการตั้งแต่ 09.00 – 20.00  น.ในส่วนอื่นๆเราจะเปิดตั้งแต่ 10.00 -21.00 น.

นพ.ฑิฆัมพร กล่าวทิ้งท้ายว่า  นอกจากนี้แอปพลิเคชัน โฮม วอท เป็นหนึ่งในนวัตกรรมใหม่ล่าสุด ที่พัฒนาขึ้นจากฝีมือพยาบาลวิชาชีพ ที่มองเห็นปัญหาการรับส่งผู้ป่วยฉุกเฉิน โดยเฉพาะเรื่องเส้นทางที่หลงกันบ่อยครั้ง จึงพยายามศึกษา และเขียนโปรแกรมและพัฒนาจนกลายเป็นแอปพลิเคชันที่ใช้กับมือถือ ช่วยเหลือการทำงานของเจ้าหน้าที่ และยังสร้างความสุขใจให้ผู้สูงอายุ ที่ต้องทนทุกข์ทรมานกับอาการเจ็บป่วย เพราะไม่เพียงเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้อย่างรวดเร็ว ยังสามารถรักษาตัวที่บ้าน โดยมีลูกหลานดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด นี่คือภาพที่เป็น Health for All หรือ“สุขภาพดีถ้วนหน้าอย่างแท้จริง” สิ่งสำคัญที่ผมเห็นอีกอย่างคือ รพ.อำเภอควรยึดหลักไว้ 4 ด้าน คือ ส่งเสริมสุขภาพ,ป้องกันโรค,รักษาโรค และฟื้นฟู