เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2561ที่ผ่านมา ดร.สมศักดิ์ ดลประสิทธิ์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา(กกศ.) ปฎิบัติหน้าที่เลขาธิการคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) พร้อมผู้บริหารระดับสูงคุรุสภา เดินทางเยี่ยมชมและติดตามโครงการส่งเสริมความเป็นเลิศทางด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ที่โรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย นครปฐม (พระตำหนักสวนกุหลาบ ระดับมัธยม)
ที่ใช้กระบวนการพัฒนานวัตกรรมและการวิจัย ในรูปแบบเครือข่าย “ชุมชนแห่งการเรียนรู้” (Professional Learning Community หรือ PLC) หรือพีแอลซี เป็นผลสำเร็จ และเป็น 1ใน เครือข่ายหน่วยงานทางการศึกษาที่ได้รับเงินอุดหนุนจัดกิจกรรมพัฒนาวิชาชีพครู ประจำปีงบประมาณ 2560 จากคุรุสภาเป็นเงินจำนวน 1.8 แสนบาท แลปีงบประมาณ 2561 ต่อยอดจากปีที่แล้วอีกจำนวน 50,000 บาท โดยมีนายนพดล เด่นดวง ผอ.รร.กาญจนาภิเษกวิทยาลัย นครปฐมฯ ให้การต้อนรับพร้อมนำเยี่ยมชมดูบรรยากาศการทำกิจกรรมการบริหารจัดการและการเรียนการสอนภายในโรงเรียน
ดร.สมศักดิ์ กล่าวว่า สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา มีหน้าที่หลัก คือ ส่งเสริม พัฒนา เชิดชูเกียรติ ควบคุม ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาทุกสังกัด และ การออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยเมื่อปีพ.ศ. 2559 คุรุสภาได้เริ่มนำแนวคิด “พีแอลซี”มาส่งเสริม สนับสนุนครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อให้สอดคล้องกับชุมชนนั้นๆอย่างแท้จริง ซึ่งโรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย นครปฐมฯ ถือเป็นต้นแบบการบริหารจัดการ การพัฒนาวิชาชีพครู และการพัฒนาคุณภาพของผู้เรียนเกิดกระบวนการคิดอย่างมีส่วนร่วม การบูรณาการระหว่างสะเต็ม (STEM) และการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของรัชกาลที่ 9มาใช้ ผ่านกระบวนการทำวิจัยบนการจัดการเรียนรู้แบบโครงงานฐานวิจัย (Research – Based Learning หรือ RBL) โดยใช้หลักคิด แนวเชิงระบบจากวิศวกรรมศาสตร์ เพื่อทำความเข้าใจความสัมพันธ์ในเรื่องเศรษฐศาสตร์และระบบนิเวศวิทยาที่จะต้องเดินไปด้วยกันอย่างพึ่งพาอาศัยอย่างสมดุล
ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการคุรุสภา กล่าวต่อว่า ทางโรงเรียนฯยังมีการการนำงบงานวิจัยไปพัฒนาต่อยอดให้เกิดนวัตกรรม โดยใช้กระบวนการพัฒนานวัตกรรมและการวิจัย ทั้งในระดับโรงเรียน และกระจายไปกลุ่มโรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย มีอยู่ 9 แห่งทั่วประเทศ ทำให้ครูและนักเรียนได้ร่วมกันฝึกทักษะการวางแผนการทำงานตามหลัก เหตุ–ผล โดยมีครูและผู้ทรงคุณวุฒิจากมหาวิทยาลัยมาต่อเติมความรู้ผ่านกิจกรรม การสร้างโจทย์โครงงานฐานวิจัย การเขียนเค้าโครงร่างการวิจัย ฝึกปฎิบัติการออกแบบการวิจัยตามประเด็นโครงงานฐานวิจัยของนักเรียนที่เขาเป็นคนคิด และครูเป็นพี่เลี้ยง พัฒนากระบวนการคิด(System Thinking) พัฒนาความสามารถด้านเทคโนโลยีเทคนิคนำเสนอผ่าน Inforgraphic(ข้อมูลที่มีความชัดเจน)และความสามารถด้านการสื่อสาร
ดร.สมศักดิ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ คุรุสภายังส่งเสริมยกระดับการศึกษาให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น ตั้งแต่ระดับ 1.ผู้ประกอบวิชาชีพ 2.หน่วยงานทางการศึกษา 3.สมาชิกวิชาชีพของครู ซึ่งจะมีกระบวนการดำเนินงานอยู่ 5 ขั้นตอน แต่สิ่งสำคัญคือ การสร้างความร่วมมือที่เรียกว่า Shared values หรือการสร้างบรรทัดฐานค่านิยมร่วมกัน เราจะพัฒนาคุณภาพการศึกษาไปได้ต้องมีการพัฒนาครู และโรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัยนครปฐมฯ เป็นโรงเรียนแห่งการเรียนรู้ครบวงจร สร้างบรรยากาศให้เด็ก ครู ผู้ปกครองนักเรียนมีความสุข
“จริงแล้วคุรุสภาได้ให้เงินอุดหนุนสนับสนุน “พีแอลซี” มาเกือบ 3 ปีแล้วซึ่งมีเครือข่ายอยู่ประมาณ 114 เครือข่าย สิ่งที่เราให้เงินสนับสนุนไปมีจำนวนไม่มากประมาณ 11 ล้านกว่าบาท เพื่อให้ได้ผลผลิตอันยิ่งใหญ่ที่คุรุสภามองว่าเป็นพลังไปสู่ความสำเร็จหรือเป้าหมายในการพัฒนาบุคลากรในพื้นที่ของเรา”ดร.สมศักดิ์ กล่าว
ด้านนายนพดล ผอ.รร.กาญจนาภิเษกวิทยาลัย นครปฐมฯ กล่าวว่า โรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัยนครปฐมฯได้รับงบประมาณจากทางคุรุสภาปีพ.ศ. 2560 มาพัฒนาคุณภาพครูและนักเรียน ซึ่งเป็นสิ่งที่ทางโรงเรียนเราภาคภูมิใจที่จัดการศึกษาที่เป็นจริง ภายในโรงเรียนมีทุกสิ่งทุกอย่างให้กับลูกๆของเรา สำหรับใช้ชีวิตในโลกความจริง เรามีครบทุกองค์ประกอบ สิ่งต่างๆที่โรงเรียนสร้างขึ้นมาเพื่อให้ครูและนักเรียนได้เรียนรู้ ฝึกประสบการณ์ฝึกอาชีพด้วย ในแต่ละจุดมีนักเรียน ผู้ปกครอง ครู และชุมชนมาทำงานร่วมกันด้วย สิ่งเหล่านี้คือการเรียนรู้จากตัวของเขาเอง
ผอ.รร.กาญจนาภิเษกวิทยาลัยนครปฐมฯ กล่าวต่อว่า บรรยากาศภายในโรงเรียนเมื่อเข้ามาจุดแรกจะพบ อุทยานการศึกษาโดยเราใช้ชื่อว่า เคพีเอ็น พาร์ค (KPN Park) คือ “ครูที่พูดไม่ได้”โดยเด็กจะเรียนรู้จากตัวของเขา ส่วนคำว่า KPNมาจากชื่อของโรงเรียน นอกจากนี้ยังมี KPN minimart ร้านค้าที่บริการให้กับนักเรียน ผู้ปกครอง และชุมชน, KPN copy center การบริการถ่ายเอกสารเย็บล็มทำรายงาน, KPN bankการให้เด็กรู้จักออมเงิน, KPN beauty salonการสร้างอาชีพให้นักเรียน, KPN book cornerมุมหนังสืออาหารเล่น หากต้องการซื้อก็มีจำหน่าย , KPN fitness ห้องไว้สำหรับออกกำลังกาย, KPN sport club(แบดมินตัน:badminton)
นายนพดล กล่าวอีกว่า สำหรับในปี 2561 โรงเรียนยังได้รับเงินอุดหนุนที่อนุมัติอีก 1 โครงการจากคุรุสภา คือ “ห้องเรียนเพาะพันธุ์ปัญญา” ในรูปแบบพีแอลซีที่เน้นครู จำนวน 50,000 บาทที่ต่อยอดจากโครงงานการวิจัยฯปีที่แล้ว และมีมหาวิทยาลัยมหิดลเข้ามาร่วมเป็นเครือข่ายขับเคลื่อนให้เกิดผลสัมฤทธิ์ระหว่างครู นักเรียนที่เกิดองค์ความรู้ไปพร้อมๆกัน
“สำหรับกิจกรรมต่างๆที่ขึ้นมา คือการสอนให้นักเรียนสามารถทำวิชาต่างๆเพื่อไปใช้ในชีวิตจริงได้ เรามีความเชื่อว่าการจัดการศึกษา คือ “ เพื่อให้มีงานทำ” ดังนั้นไม่ว่าเราจะเรียนรู้อะไรก็ได้ แต่ขอให้มีงานทำ เราจะเห็นว่านอกจากมีบรรยากาศต่างๆแล้ว ยังมีการทำคอร์ทแบดมินตันที่ได้มาตรฐานสากลอีกด้วย เพราะเราต้องการให้เด็กของเรามีคุณภาพชีวิตดี ร่างกายแข็งแรงไม่ใช่ หัวโตแต่ตัวลีบ เก่งแต่ร่างกายไม่แข็งแรง”นายนพดล กล่าว
ด้านน.ส.วัชรินทร์ ศรีพุ่มไข่ ครูประสานงานโครงการพีแอลซี ห้องเรียนเพาะพันธุ์ปัญญา กล่าวว่า สำหรับห้องเรียนเพาะพันธุ์ปัญญานั้น เราต้องการให้เด็กได้เรียนรู้ถึงกระบวนการคิดตั้งแต่ต้นน้ำไปถึงปลายน้ำโดยกระบวนการใช้หลักการวิจัย โดยให้เด็กร่วมกลุ่มไม่เกิน 4 คนทำโครงงานมา 1 ชิ้นที่อยู่รอบตัวเขา โดยมีเด็กกลุ่มหนึ่งเห็นกากถั่วเหลืองที่เหลือจากการทำน้ำเต้าหู้ที่บ้านจึงคิดร่วมกัน ตั้งชื่อว่า “โครงงานการทดสอบสารอาหารเกี้ยวจากกากถั่วเหลืองและการเปรียบเทียบสารอาหารของแผ่นเกี้ยวทั่วไป”โดยมีครูเป็นผู้ตั้งคำถามและให้นักเรียนไปคิดเพื่อหาคำตอบโดยใช้หลักการคิดด้านวิทยาศาสตร์เข้ามามีส่วนร่วม เริ่มจากถั่วเหลืองมีโปรตีนอะไรและถ้ามาทำแผ่นเกี้ยวได้หรือไม่ แล้วเปรียบเทียบกับแผ่นเกี้ยวทั่วไปเป็นอย่างไร เป็นต้น ซึ่งปรากฏว่าเด็กได้เรียนรู้ แผ่นเกี้ยวทั่วไปยิ่งทอดในน้ำมันยิ่งดำ แต่แผ่นเกี้ยวที่ทำจากกากถั่วเหลืองนั้นมีคุณค่าทางโปรตีน เมื่อทอดในน้ำมันยิ่งเหลืองขาว เป็นต้น