กสทช. ร่วมกับ ITU จัดประชุมเชิงปฏิบัติการสร้างความรู้เรื่อง Blockchain(บล็อกเชน)

356

เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2561 ที่โรงแรมเรดิสันบลู พลาซา กทม. นายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นประธานเปิดงานประชุมเชิงปฏิบัติการด้านการกำกับดูแลภายในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ระหว่างสำนักงาน กสทช. และสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) ภายใต้กรอบการประชุมใหญ่ WTDC ประจำปี พ.ศ. 2561(COE 2018) ว่า สำนักงาน กสทช.เชิญสมาชิก สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU)หรือไอทียู เข้ามาอบรมว่าด้วยเรื่อง Blockchain (บล็อกเชน) เครือข่ายการเก็บข้อมูลแบบหนึ่ง ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงและได้รับข้อมูลเดียวกัน เราจึงรู้ว่าใครมีสิทธิและเป็นเจ้าของข้อมูลเหล่านี้จริงๆ

โดยข้อมูลเหล่านี้จะถูกเก็บอยู่ในแต่ละบล็อก (Block) ที่เชื่อมโยงกันบนเครือข่ายเหมือนกับห่วงโซ่ (Chain) เข้ามามีบทบาทในวงการไอทีและธุรกิจมากขึ้น โดยมุ่งสร้างความเข้าใจเรื่องเทคโนโลยีบล็อกเชน ทั้งนี้เพื่อพัฒนาศักยภาพด้านโทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ ผลักดันไทยสู่เศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy)

นายก่อกิจ กล่าวว่า อย่างที่ทราบดีว่าเป็นเทคโนโลยีใหม่ โดยในโครงการความร่วมมือดังกล่าว ได้จัดให้มีการประชุมเชิงปฎิบัติการเรื่อง “Distributed Ledger Technologies (Blockchain) Ecosystem and Decentralization” จำนวน 4 วันในระหว่างวันที่3 – 6 กันยายน 2561  การร่วมมือระหว่างสำนักงาน กสทช. และ ITU ในครั้งนี้ มีจุดประสงค์เพื่อช่วยเสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการพัฒนาความร่วมมือของแต่ละภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชน ในยุคดิจิทัล ผลักดันให้เกิดการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานระหว่างประเทศในการพัฒนาการสื่อสารโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารภายในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก

อีกทั้งจะเป็นกลไกสำคัญของสำนักงาน กสทช. ในการสร้างความร่วมมือในระดับสากลเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการสื่อสารโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศของประเทศไทยและประเทศกำลังพัฒนาภายในภูมิภาค การดำเนินโครงการดังกล่าวจะส่งผลให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านการพัฒนาโทรคมนาคมในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก พร้อมทั้งมีความสอดรับการแนวนโยบายของรัฐบาลที่จะผลักดันประเทศไทยให้เข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาคธุรกิจในทุกอุตสาหกรรมสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างเต็มประสิทธิภาพเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันโดยการลดต้นทุน ลดระยะเวลา เพิ่มช่องทางการค้าและก่อให้เกิดสินค้าและบริการใหม่ ที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคเพื่อนำสังคมไปสู่การเป็นสังคมอัจฉริยะ (Smart City) ต่อไป

นอกจากนี้ การเสริมสร้างความรู้และความเข้าใจในเรื่อง Distributed Ledger Technologies (Blockchain) Ecosystem and Decentralization ทำให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับแนวคิด Thailand 4.0 ได้อย่างหลากหลายเนื่องจากเทคโนโลยี Blockchain ช่วยในเรื่องความถูกต้องของข้อมูลและการปลอมแปลงข้อมูลที่ทำได้ยาก มีความโปร่งใสที่สามารถตรวจสอบได้ แต่ยังคงมีความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัว

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาระบบจะต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่ายทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งจะต้องได้รับการสนับสนุนจากระบบการสื่อสารโทรคมนาคมที่เสถียรและมีศักยภาพมากพอที่จะรองรับการนำเทคโนโลยี Blockchainไปประยุกต์ใช้กับงานให้สัมฤทธิ์ผล สำนักงาน กสทช. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลด้านโทรคมนาคมจึงต้องมีส่วนร่วมในการผลักดันในเรื่องนี้ด้วยไม่มากก็น้อย

“อย่างที่ทราบดีว่า เทคโนโลยี บล็อกเชน(Blockchain)จะเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีแห่งอนาคต เนื่องจากเป็นระบบบัญชีที่มีการกระจายตัว ใครมีอะไรอีกคนก็ต้องมีอย่างนั้น นั่นแปลว่าการเปลี่ยนแปลงข้อมูลใดที่อยู่ในวงนั้นๆจะเปลี่ยนพร้อมกันไปด้วยและเนื่องจากเป็นยุคเปลี่ยนผ่านจะมีการนำมาใช้มากขึ้น ระบบเดิมที่เขาใช้กันอยู่ก็มี 2 อย่าง คือ 1.ระบบคอมพิวเตอร์รวมศูนย์ กับ 2.ระบบคอมพิวเตอร์แบบกระจาย แต่ระบบบล็อกเชนจะเป็นระบบยิ่งกระจายออกไปมากขึ้นกว่าเดิม และสามารถเช็คข้อมูลและปรับข้อมูลให้เป็นปัจจุบันอยู่เสมอ ซึ่งงาน กสทช.ที่เกี่ยวข้องก็เป็นงานการสื่อสารต้องมีความแม่นยำจะขาดช่วงไม่ได้ การสื่อสารเป็นสิ่งสำคัญเป็นโครงสร้างสำคัญที่ทำให้เทคโนโลยี ที่จะไปขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลเป็นไปได้มากขึ้น เราใช้เวลาทำความเข้าใจเรื่อง บล็อกเชนกันมานานพอสมควร เชื่อว่าใน 1-2 ปีเมืองไทยจะเข้ามามากขึ้น เท่าที่คุยดูนายก่อกิจ กล่าว