สปสช.ดูแลคนไทยกลุ่มเปราะบางชนเผ่าพื้นถิ่น“ชาวมานิ”เข้าถึงสิทธิบัตรทอง

729

“หมอศักดิ์ชัย” ลงพื้นที่ติดตามงานคุ้มครองกลุ่มเปราะบาง “ชาวมานิ” ขึ้นทะเบียนบัตรทองแล้ว 312 คน รองรับสิทธิบริการสุขภาพภายใต้หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ให้ชาวมานิใช้สิทธิหน่วยบริการรัฐได้ทุกแห่ง สอดคล้องวิถีชีวิตเคลื่อนย้ายถิ่น

เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2561 นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วยผู้บริหาร สปสช.ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานเพื่อการเข้าถึงระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) สำหรับ “กลุ่มเปราะบางชนเผ่าพื้นที่ถิ่น “มานิ”หรือซาไกที่คนไทยเรียกกัน ในกลุ่มพันธุ์ “มานิ รักษ์ป่าบอน” จ.พัทลุง ที่ หน่วยจัดการต้นน้ำคลองพรุพ้อ (หนำตาเม่น) บริเวณเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัด อ.ป่าบอน จ.พัทลุง และระบบการส่งต่อที่เมื่อชาวมานิ เกิดอุบัติเหตุหรือโรคภัยไข้เจ็บและรักษาเบื้องต้นไม่ได้มาที่ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านโหล๊ะหาร หมู่ที่ 7 ต.ทุ่งนารี อ.ป่าบอน จ.พัทลุง ซึ่งมีนายศราวุฒิ แก้วหนูนวล เป็น ผู้อำนวยการ รพ.สต.บ้านโหล๊ะหาร เพื่อเข้ารับบริการสาธารณสุชตามที่จำเป็น ในฐานะที่เป็นประชาชนคนไทยที่มีบัตรประชาชนตามที่กระทรวงมหาดไทยรับรอง ในการเข้ารับการรักษาตามระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า กลุ่มชาติพันธ์มานิ หรือ “ชาวซาไก” เป็นชนพื้นเมืองดั้งเดิมของไทย มีถิ่นอาศัยอยู่ทางภาคใต้ของประเทศ ด้วยสภาพสังคมและวิถีชีวิต การอพยพเคลื่อนย้ายที่อยู่อาศัย ทำให้เป็นกลุ่มเปราะบาง ทั้งบางส่วนไม่มีบัตรประชาชนจึงไม่ได้รับการรับรองสถานะ ทั้งที่เป็นกลุ่มคนติดแผ่นดินอาศัยอยู่เทือกเขาบรรทัดมานานกว่าพันปี ทำให้ไม่ได้รับการดูแลและคุ้มครองสิทธิที่จำเป็นรวมถึงบริการสุขภาพ และจากแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2560-2564) ที่ได้มุ่งเน้นให้ทุกคนที่อาศัยอยู่บนผืนแผ่นดินไทยได้รับความคุ้มครองหลักประกันสุขภาพอย่างถ้วนหน้าด้วยความมั่นใจ รวมถึงกลุ่มเปราะบาง ซึ่งชาวมานิเป็นหนึ่งในกลุ่มเปราะบางนี้

เลขาธิการ สปสช. กล่าวต่อว่า จากการรับรายงานว่ากลุ่มชาติพันธุ์ ภาคใต้ใน 4 จังหวัดมีชนเผ่าพื้นเมือง “มานิ” ที่ได้รับบัตรประชาชน จำนวน 312 คน ใน 4 กลุ่ม ได้แก่

1.กลุ่มมานิ รักษ์ป่าบอน  อ.ป่าบอน จ.พัทลุงจำนวน 33 คน กลุ่มมานิรักษ์กงหรา อ.กงหรา จ.พัทลุง จำนวน 30 คน รวมจ.พังงามี 63 คน

2.กลุ่มมานิศรีบริพัตร อ.รัตภูมิ จ.สงขลา 20 คน กลุ่มมานิ เพชรประสมกูล ต.ควนลัง หาดใหญ่ จ.สงขลา จำนวน 4 คน  รวม 24 คน

3.กลุ่มมานิ ศรีมะนัง อ.ละงู จ.สตูล จำนวน 56 คน กลุ่มมานิรักษ์ละงู อ.ละงู จ.สตูล 23 คน กลุ่มมานิศรีสายทอง อ.ทุ่งหว้า จ.สตูล จำนวน 10 คน กลุ่มมานิศรีสายทอง อ.ทุ่งหว้า จ.สตูล 13 คน  รวมจำนวนจ.สตูล 102 คน

4.กลุ่มมานิศรีลิพัง อ.ปะเหลียน จ.ตรัง 36 คน กลุ่มมานิปักษี อ.ปะเหลียน จ.ตรัง 13 คน กลุ่มมานิศรีปะเหลียน อ.ปะเหลียน 4 คน และกลุ่มมานิศรีสันติราษฎร์ อ.ปะเหลียน 70 คน รวมจำนวนที่จ.ตรัง 123 คน นอกจากนี้ยังมีแยกกระจายอยู่ 76 คน ที่ศรีธารโต จ.ยะลา

ในอดีตเมื่อเจ็บป่วยชาวมานิจะดูแลรักษากันเองตามภูมิปัญญาชาติพันธุ์ ส่วนใหญ่ใช้สมุนไพรที่ปัจจุบันมีจำนวนลดน้อยลงเพราะพื้นที่ป่าลดลง เมื่อมีอาการหนักจะขอความช่วยเหลือจากคนคุ้นเคยพาไปโรงพยาบาลใกล้ที่พักอาศัย ซึ่งหน่วยบริการในพื้นที่จะให้การสงเคราะห์เพราะทราบดีว่า ชาวมานิส่วนใหญ่ไม่ถือเงินและไม่สามารถจ่ายค่ารักษาพยาบาลเองได้ ขณะที่หน่วยบริการไม่สามารถเบิกจ่ายจากระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ เพราะเป็นกลุ่มที่ยังไม่ได้รับสิทธิบัตรทอง จากสถานการณ์นี้ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย และ สปสช.เขต 12 สงขลา จึงได้ร่วมดำเนินการเพื่อรับรองสถานะกลุ่มชาวมานิในความเป็นคนสัญชาติไทยตามหลักสืบสายโลหิต เพราะมีลักษณะโดดเด่นเฉพาะ เพื่อให้สามารถเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพ

จากข้อมูลการสำรวจมีจำนวนชาวมานิประมาณ 500 คน ในจำนวนนี้มีคนที่ได้รับบัตรประชาชนแล้ว 312คน และจากฐานข้อมูลทะเบียนผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพ ณ วันที่ 21 สิงหาคม 2561 พบชาวมานิระบุเป็นสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจำนวน 312 คน  ทำให้มีงบประมาณสนับสนุนไปยังหน่วยบริการในพื้นที่เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลได้ในระดับหนึ่ง โดยชาวมานิที่อยู่ในกลุ่มกึ่งสังคมชุมชน และกลุ่มตั้งถิ่นถาวรจะได้รับการดูแลอนามัยแม่และเด็กเป็นระบบมากขั้น และได้รับความรู้ความเข้าใจเรื่องการดูแลสุขภาพจากงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า การเข้าถึงบริการของกลุ่มมานิยังมีข้อจำกัดอยู่มาก โดยเฉพาะการย้ายถิ่นที่อยู่บ่อยตามห่วงโซอาหาร ทำให้ไม่สามารถไปรับบริการยังหน่วยบริการประจำได้ การส่งต่อตามเงื่อนไขที่กำหนดไม่รองรับการเข้ารับบริการสาธารณสุขตามปกติหรือตามความจำเป็นของกลุ่มชาวมานิ รวมทั้งการย้ายสิทธิหรือเปลี่ยนหน่วยบริการได้ 4 ครั้ง/ปี ไม่สอดคล้องกับสภาพสังคมความเป็นอยู่และวิถีชีวิตชาวมานิที่อยู่อาศัยกลางป่า ไม่มีบ้านเลขที่ชัดเจน พูดภาษไทยไม่ได้หรือได้แต่น้อย จึงอาจไม่สะดวกในการใช้สิทธินี้ ดังนั้นจึงมีข้อเสนอให้กลุ่มชาวมานิสามารถเข้ารับบริการที่หน่วยบริการสุขภาพของรัฐได้ทุกแห่งโดยไม่ต้องมีการส่งตัว เพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตที่จำเป็นต้องย้ายที่อยู่ตามห่วงโซ่อาหาร โดยคณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับเขตพื้นที่ เขต 12 สงขลา ได้ให้ความเห็นชอบ และอยู่ระหว่างการเตรียมนำเสนอคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เพื่อพิจารณาต่อไป

“ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติแม้ว่าจะให้การคุ้มครองสิทธิประชาชน รายงานล่าสุดปี 2561 ได้ครอบคลุมผู้มีสิทธิหลักประกันแห่งชาติ ร้อยละ 99.94 โดยยังมีประชากรบางกลุ่มที่ยังเข้าไม่ถึงสิทธิ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง อย่างกลุ่มชาวมานินี้ และการเข้าถึงบริการสุขภาพเป็นสิทธิพื้นฐานด้านสิทธิมนุษยชน ดังนั้น สปสช.จึงให้ความสำคัญเพื่อให้คนไทยทุกกลุ่มเข้าถึงบริการสุขภาพอย่างครอบคลุมและทั่วถึง” เลขาธิการ สปสช. กล่าว

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวอีกว่า อีกทั้งในเรื่องที่ชาวมานิซึ่งเป็นกลุ่มที่มีการเคลื่อนย้ายไปเรื่อยไม่หยุดนิ่งในการรักษาพยาบาล ไม่ต้องกังวลเพียงแค่มีบัตรประชาชนหรือเลข 13 หลักที่สามารถพิสูจน์ตัวตนชัดเจนก็สามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลได้เหมือนคนไทยทั่วไป “เราพยายามจะจัดอะไรตามวิถีชีวิตที่เขาเป็นอยู่ให้เขามากกว่าที่จะจัดวิถีชีวิตตามระบบราชการ นี่เป็นข้อดีที่เราให้พื้นที่เข้าไปดำเนินการกันเอง”