
นายศรีชัย พรประชาธรรม เลขาธิการ กศน. เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานตามสำรวจข้อมูลตามโครงการแก้ปัญหาประชากรวัยเรียนที่อยู่นอกระบบการศึกษา ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญเร่งด่วนของรัฐบาลที่กระทรวงศึกษาธิการมอบหมายให้สำนักงาน กศน.เป็นผู้ขับเคลื่อน โดยมีเป้าหมายนำประชากรวัยเรียนอายุระหว่าง 3-18 ปี เข้าสู่ระบบการศึกษาว่า ได้มอบหมายให้สำนักงาน กศน.จังหวัดทั่วประเทศ โดยนำรูปแบบในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้มาพัฒนาให้สอดคล้องกับแนวทางการดำเนินงานและบริบทของพื้นที่ เน้นการบูรณาการภารกิจร่วมกัน สร้างความร่วมมือและรับรู้ร่วมกับหน่วยงานในกระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
พัฒนาระบบการเก็บข้อมูลโดยส่งต่อข้อมูลจากส่วนกลางให้สถานศึกษา จำแนกข้อมูลเป็นรายหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ ส่งต่อข้อมูลผู้ที่ไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษาให้กับสถานศึกษาในสังกัด ลงพื้นที่ติดตามหาตัวตนของเด็กที่อยู่นอกระบบการศึกษา โดยใช้กลวิธี “เคาะประตูบ้าน รุกถึงที่ ลุยถึงถิ่น” จัดเก็บข้อมูล และวิเคราะห์ผู้เรียน เพื่อหาสาเหตุและความต้องการในการเรียนรู้ และจัดหาที่เรียนให้แก่กลุ่มเป้าหมาย ทั้งในระบบ และนอกระบบการศึกษา จนจบการศึกษา
โดยมีการกำกับติดตามและรายงานผลอย่างต่อเนื่องโดยมอบหมายให้ นางณัฐกฤตา พึ่งสุข ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยกลุ่มเป้าหมายพิเศษ (ศกพ.) และทีมงาน เป็นเจ้าภาพหลักในการรวบรวมและสรุปรายงานผลการสำรวจดังกล่าว เพื่อนำไปสู่การวางแผนดำเนินการในขั้นตอนต่อไป

เลขาธิการ กศน. กล่าวต่อว่า ศกพ.ได้รวบรวมและสรุปรายงานผลการสำรวจประชากรวัยเรียนที่อยู่นอกระบบการศึกษาล่าสุดเพื่อรายงานต่อสาธารณชน จากยอดประชากรวัยเรียนในระบบฐานข้อมูลทั้งหมด ข้อมูล ณ วันที่ 13 พ.ย. 2561 สำรวจกลุ่มเป้าหมายได้ร้อยละ 76.30 โดยมีสำนักงาน กศน.จังหวัด 41 แห่งดำเนินการครบถ้วน 100% ส่วนจังหวัดที่เหลือ ยังขาดข้อมูลบางส่วน เนื่องจากเป็นพื้นที่ยากลำบาก ซึ่งทุกจังหวัดกำลังเร่งดำเนินการสำรวจให้แล้วเสร็จในระยะเวลาอันใกล้นี้
นายศรีชัย กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามจากการสำรวจในครั้งนี้ แบ่งข้อมูลออกเป็น 2 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มที่เข้าเรียนหรือจำหน่ายออกจากฐานข้อมูล และ2.กลุ่มที่กำลังดำเนินการ โดยกลุ่มที่เข้าเรียนหรือจำหน่ายออกจากฐานข้อมูล ยังแบ่งย่อยออกเป็นกลุ่มที่เข้าเรียนทั้งในและต่างประเทศแล้ว กลุ่มที่จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.6) หรือเทียบเท่าไปแล้ว กลุ่มที่จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น (ม.3) แล้ว และกลุ่มที่ไม่มีตัวตน/ตาย สำหรับกลุ่มที่กำลังดำเนินการ ได้แบ่งประเภทออกเป็น กลุ่มเด็กพิการ จำนวน 24,331 คน เด็กปกติที่ไม่ได้เรียน จำนวน 95,473 คน และกลุ่มเด็กที่ออกกลางคัน จำนวน 81,904 คน ทั้งนี้ ข้อมูลเหล่านี้ จะนำไปสู่การส่งต่อในเรื่องของการจัดและให้บริการทางการศึกษาแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป