เลขาธิการ สปสช.ลงพื้นที่ดู“ธนาคารกายอุปกรณ์” รพ.สีคิ้ว โคราช พร้อมเยี่ยมบ้านผู้ป่วยติดเตียง

518

“ธนาคารกายอุปกรณ์” ดูแลผู้ป่วย คนพิการ ผู้สูงอายุในภาวะพึ่งพิง เข้าถึงกายอุปกรณ์ฟื้นฟูความพิการ เพิ่มคุณภาพชีวิต ลดค่าใช้จ่ายผู้ป่วยและครอบครัว ต้นแบบใช้งบประมาณกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพฯ นครราชสีมาคุ้มค่า ประชาชนได้ประโยชน์

 

เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2561 นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร สปสช. และสื่อมวลชน เยี่ยมชมการดำเนินโครงการ “ธนาคารกายอุปกรณ์ โรงพยาบาลสีคิ้ว จ.นครราชสีมา” ภายใต้กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพที่จำเป็นต่อสุขภาพของประชาชนในจังหวัดนครราชสีมา เพื่อดูแลผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพ เช่นผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงและคนพิการ ให้เข้าถึงกายอุปกรณ์ที่จำเป็นอย่างทั่วถึง

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า กองทุนฟื้นฟูสมรรภาพที่จำเป็นต่อสุขภาพระดับจังหวัด เป็นความร่วมมือระหว่าง สปสช. และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ตาม พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 เพื่อดูแลประชาชนผู้มีสิทธิที่มีความจำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพให้เข้าถึงบริการเพิ่มขึ้น โดยกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้มีการจัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2562 ได้จัดสรรงบบริการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการแพทย์จำนวน 16.13 บาทต่อผู้มีสิทธิ สำหรับประชากรผู้มีสิทธิจำนวนกว่า 48 ล้านคน

กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพฯ เปิดโอกาสให้ท้องถิ่นบริหารจัดการในรูปแบบเหมาะสมตามบริบทพื้นที่ ซึ่ง “ธนาคารกายอุปกรณ์ รพ.สีคิ้ว” เป็นรูปแบบหนึ่งในการบริหารกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพที่จำเป็นต่อสุขภาพจังหวัดนครราชสีมา โดยความร่วมมือระหว่าง องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา ที่มีร.ต.หญิงระนองรักษ์ สุวรรณฉวี เป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา ที่ให้งบสนับสนุนจากปีที่ผ่านมา 10 ล้านบาท  และ สปสช.มอบให้อีก 10 ล้านบาท  ในการช่วยสนับสนุนให้กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพที่จำเป็นต่อสุขภาพระดับจังหวัด นอกจากช่วยผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพแล้วยังมี ผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงหรือช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ และผู้พิการได้เข้าถึงกายอุปกรณ์อย่างครอบคลุมแล้ว งบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในระดับจังหวัดนครราชสีมา ยังถูกใช้ลงทุนอย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ เพราะผู้ป่วยบางรายมีความจำเป็นต้องใช้กายอุปกรณ์ฟื้นฟูในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น เมื่ออาการดีขึ้น หรือไม่จำเป็นต้องใช้กายอุปกรณ์นั้น สามารถส่งต่อให้กับผู้ป่วยรายอื่นที่จำเป็นต้องใช้ได้ ลดค่าใช้จ่ายผู้ป่วยและครอบครัว มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ ทั้งเป็นการรองรับสังคมผู้สูงอายุเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี

ด้านร.ต.หญิง ระนองรักษ์ สุวรรณฉวี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของศูนย์สาธิตและยืมอุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการฟื้นฟูสมรรถภาพที่บ้าน หรือ “ธนาคารกายอุปกรณ์ ” ด้วยจังหวัดนครราชสีมามีประชากรมากเป็นอันดับ 2 ของประเทศ มีคนพิการ 87,554 คน ผู้สูงอายุ 435,023 คน และมีผู้ป่วยหลอดสมองปี 2561 ถึง 5,161 คน ทั้งหมดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องและมีความจำเป็นต้องใช้กายอุปกรณ์เพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพ โดยบางส่วนมีปัญหาค่าใช้จ่าย โครงการนี้จึงเกิดขึ้นภายใต้กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพี่จำเป็นต่อสุขภาพจังหวัดนครราชสีม โดยเริ่มปี 2560 ตามความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพจังหวัดนครราชสีมา โดยจัดตั้งศูนย์สาธิตและยืมอุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการฯ ในโรงพยาบาลชุมชน จำนวน 32 แห่ง งบประมาณ 6,927,800 บาท

 

ต่อมาปีงบประมาณ 2561ได้สนับสนุนงบประมาณจัดซื้ออุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการต่อเนื่อง 23 แห่ง และสนับสนุนจัดตั้งศูนย์สาธิตและยืมอุปกรณ์ฯ ยังคลินิกครองครัวเพิ่มอีก 3 แห่ง คือ คลินิกหมอครอบครัวศีรษะละเลิง, โคกสูง และหนองพลวงมะนาว รวมงบประมาณ 4,285,500 บาท ทำให้ปัจจุบันจังหวัดนครราชสีมามีศูนย์สาธิตและยืมอุปกรณ์ 35 แห่ง รวมงบประมาณดำเนินการทั้งสิ้น 11,213,300 บาท โดยดำเนินการควบคู่การจัดระบบดูแลต่อเนื่องผู้ป่วยที่บ้าน

สำหรับอุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการที่ให้บริการในศูนย์สาธิตและยืมอุปกรณ์ฯ มี 11 รายการ คือ เตียงเฟาว์เลอร์แบบ 2 ไก, เตียงเฟาว์เลอร์แบบ 3 ไก, ที่นอนลมแบบลอน(ใหญ่), รถเข็นชนิดนั่ง(ปรับข้าง), เก้าอี้นั่งถ่าย, รถเข็นแบบปรับนอนได้สำหรับผู้ใหญ่, ที่ฝึกเดินแบบปรับระดับได้, เครื่องผลิตออกซิเจน, เครื่องควบคุมฉีดยาขนาดเล็ก, เครื่องดูดเสมหะ และเตียงฝึกยืนแบบมือหมุนสำหรับเด็ก ทั้งนี้ทางศูนย์ฯ ได้พัฒนาระบบฟื้นฟูสมรรถภาพของหน่วยบริการควบคู่ เพื่อให้มีการจัดบริการและอุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการให้ครอบคลุมและตอบสนองต่อความจำเป็น

ด้าน พญ.อารีย์ เชื้อเดช ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสีคิ้ว กล่าวว่า พื้นที่ อ.สีคิ้ว มีคนพิการที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ 175 คน และผู้ป่วนติดเตียง 108 คน ต้องได้รับอุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการ แต่ด้วยราคาที่แพงส่วนหนึ่งจึงเข้าไม่ถึงจึงเริ่มมีการยืมอุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการนำไปใช้ที่บ้านในปี 2550 ใช้เงินบำรุงโรงพยาบาลและกองทุนผู้ยากไร้ การบริจาคกายอุปกรณ์จากผู้ป่วยและญาติ ต่อมาปี 2560 และ 2561 ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพฯ จังหวัดนครราชศรีมา เปิดเป็นศูนย์สาธิตและยืมอุปกรณ์ฯ บูรณาการกับงานการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน (HOME HEALTH CARE) ของกลุ่มงานพยาบาล

การยืมกายอุปกรณ์เพื่อช่วยความพิการฯ มีทั้งผู้ป่วยในที่แพทย์พิจารณาจำเป็นต้องใช้เครื่องมือหลังจากออกจากโรงพยาบาล, ผู้ป่วยนอกที่ติดต่อยืมอุปกรณ์ และผู้ป่วยที่ รพ.สต.ในพื้นที่สีคิ้วพิจารณาว่าจำเป็นต้องใช้ ผลที่เกิดขึ้นทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงกายอุปกรณ์เพื่อการฟื้นฟูที่ ได้รับการดูแลต่อเนื่องที่บ้าน ลดค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยและครอบครัว

 

จากนั้น นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร สปสช. และสื่อมวลชน ได้ลงพื้นที่เยี่ยมผู้ป่วยสูงอายุพิการ นอนติดเตียง ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ โดยป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมองและอัมพาทครึ่งซีกมาประมาณกว่า 10 ปีแล้วปัจจุบันอายุ 78 ปี อยู่ในชุมชนบ้านมูลตุ่น  อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมาซึ่งเป็นพื้นที่ดูแลของโรงพยาบาลสีคิ้ว ที่ประสบเหตุจากบ้านไฟไหม้ และได้ใช้สิทธิ์หลักประกันสุขภาพในการยืมอุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการ เช่นรถเข็นแบบนั่ง จากเดิมสิทธิ์ที่ได้รถเข็นแบบนั่งตามสิทธิ์เลยเนื่องจากขึ้นทะเบียนเป็นผู้พิการแล้ว โดยศูนย์สาธิตยืมอุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการฟื้นฟูสมรรถภาพ รพ.สีคิ้วจะมี 2 ส่วนที่ได้รับจากกองทุนสปสช. คือ จ่ายตามสิทธิ์บัตรทองหากมีความพิการไม่ต้องคืน กับ สิทธิ์บัตรทองที่สามารถยืมจากธนาคารกายอุปกรณ์จากรพ.ได้ เช่นอุบัติเหตุ ถังออกซิเจน หรือเครื่องผลิตออกซิเจนโดยใช้ระบบไฟฟ้า เป็นต้น เมื่อหายหรือไม่ได้ใช้แล้วก็ต้องคืนให้กับรพ.เพื่อจะได้หมุนเวียนให้ผู้ป่วยรายอื่นได้ใช้ต่อไป