สปสช.เยี่ยมชมการดูแลผู้สูงอายุพึ่งพิง อบต.ดอนแก้วและ รพ.ชุมชนดอนแก้ว แม่ริม จ.เชียงใหม่

1148

เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2562 นพ.การุณย์ คุณติรานนท์ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ลงพื้นที่เยี่ยมชมการจัดระบบดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง (Long Term CareLTC) ที่ โรงพยาบาลชุมชนตำบลดอนแก้ว  อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลตัวอย่างที่มีกระบวนการและแนวทางการดูแลผู้สูงอายุในภาวะพึ่งพิงระยะยาวได้แบบยั่งยืน ขององค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)ดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่

โดยมีนายนพดล ณ เชียงใหม่ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลดอนแก้ว และดร.อุบล ยะไวทย์ณะวิชัย ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลดอนแก้ว .ให้การต้อนรับคณะและบรรยายสรุปนวัตกรรมดอนแก้ว ดีเอ็นเอ (Donkaew DNA ) และ กองทุนหลักประกันสุขภาพระดับตำบลดอนแก้ว ที่สนใจเข้าร่วมดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง จากที่ สปสช.ได้จัดสรรงบให้กับ อบต.แบบเหมาจ่ายเพื่อให้หน่วยบริการประจำในพื้นที่ดำเนินการให้กับกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นที่ร่วมดำเนินการ พร้อมเยี่ยมชมโรงเรียนฮอมสุข โรงเรียนผู้สูงอายุดอนแก้ว ที่วัดสันเหมืองประชาราม และแนวทางการดูแลผู้สูงอายุระยะยาวแบบยั่งยืน โดยมีเรียนสัปดาห์ละ 1 วัน คือ ทุกวันพฤหัสบดี ในการช่วยกระตุ้นสมองผู้สูงอายุไม่ให้เป็นโรคสมองเสื่อม  โดยมีการจัดกิจกรรมร้องเพลงประกอบท่าทาง เพื่อให้ผู้สูงอายุได้ออกกำลังกายและร่วมกินอาหารกลางวันกับเจ้าหน้าที่ดุจญาติมิตร

นพ.การุณย์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังลงพื้นที่ครั้งนี้ว่า  ตำบลดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ได้ชื่อว่าเป็น ตำบลที่มีสุขภาพดีในการจัดระบบบริการสาธารณสุขให้กับประชาชนในพื้นที่ครบทั้ง 4 มิติ คือ สุขภาวะทางกาย ,ทางจิต ,ทางสังคม และทางปัญญา เป็นทิศทางในการพัฒนาตำบลที่มีแนวทางการพัฒนาชัดเจน คือ เน้นการกระจายอำนาจสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน,การบูรณาการโดยเอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง และการพัฒนาคนให้สร้างงาน จนมีการพัฒนาเป็น “นวัตกรรมดอนแก้วดีเอ็นเอ” ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่มุ่งเน้น ในการสร้างคนไม่ทุจริต มีจิตอาสา กล้านำ และทำสิ่งใหม่, การสร้างระบบด้วยการพัฒนาภายใต้หลักธรรมาภิบาล

โดยอาศัยกระบวนการของโรงเรียนธรรมาภิบาล และการสร้างงาน สร้างนวัตกรรม คือการพัฒนาระบบบริการสาธารณะที่จำเป็นของ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นให้ตอบสนองความต้องการของประชาชน ดุจญาติมิตร ใช้สิทธิเท่าเทียมกัน  รวมทั้งบรรยากาศภายในรพ.ชุมชนแห่งนี้ที่มีแนวทางการดำเนินงานว่า โรงพยาบาลคือบ้าน  บ้านคือโรงพยาบาล ด้วยการบริหารจัดการภายใต้หลัก 3 ดี คือ สิ่งแวดล้อมดี,บริการดี และบริหารดี ด้วย 4 เสาหลักสำคัญ คือ รพ.ชุมชน  อบต.ดอนแก้ว ชุมชนและอาสาสมัคร ทำให้เกิดระบบสุขภาพที่ดำเนินงานโดยการมีส่วนร่วมของหลายๆภาคส่วน และ ชุมชนเป็นผู้กำหนดหรือประชาชนสั่งได้ มีการต่อยอดการดำเนินงานด้วยนวัตกรรมการดูแลผู้ป่วยและคนพิการ

นพ.การุณย์ กล่าวต่อว่า จากการรับฟังและเยี่ยมชมภายในโรงพยาบาลและโรงเรียนผู้สูงอายุ “ฮอมสุข” พบว่า มีการให้ประชาชนในพื้นที่เป็นศูนย์กลางร่วมกันคิด ร่วมกันจัดการ ด้วยการเปลี่ยนบทบาทภาครัฐไปอยู่ในชุมชน  เพราะปัญหาแต่ละเรื่องทางอบต.จะให้ชุมชนเป็นผู้ขับเคลื่อน ทางรพ.เป็นผู้แนะนำสนับสนุน และในปี 2562 นี้ รัฐบาลได้สนับสนุนงบประมาณเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงทั่วประเทศ จำนวน 916.8 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายจำนวน 152,800 คน ในจำนวนนี้ สปสช.ได้จัดสรรเป็นงบเหมาจ่ายให้หน่วยบริการประจำในพื้นที่ที่เข้าร่วมดำเนินการจำนวน 150 ล้านบาท หรือหน่วยบริการละ 100,000 บาท เป็นงบเหมาจ่ายให้กับกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ที่ร่วมดำเนินการ จำนวน 741 ล้านบาท จ่ายเป็นอัตราเหมาจ่ายจำนวน 5,000 บาท/คน/ปี

“จากการดำเนินงานในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา กองทุน LTCในการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงต่อเนื่องทั่วประเทศ โดยปี61 มีผู้สูงอายุได้รับการดูแลในระบบเกินเป้าหมายถึง 2.11 แสนคน ซึ่งร่วมผู้สูงอายุที่อยู่ในระบบทั้งรายเก่าและรายใหม่ในแต่ละปีเกินเป้าหมายที่สปสช.ตั้งไว้ สำหรับโรงพยาบาลชุมชนตำบลดอนแก้ว เป็นหนึ่งในหน่วยบริการที่ได้ร่วมจัดระบบดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงในพื้นที่ มีการจัดทีมหมอครอบครัว และผู้ช่วยเหลือดูแลผู้สูอายุที่มีภาวะพึ่งพิงในการติดตามดูแลเยี่ยมบ้านผู้ปวยอย่างต่อเนื่อง มีบริการตรวจสุขภาพรักษาต่อเนื่อง ฟื้นฟูสมรรถภาพให้กับผู้ป่วยซึ่งนับเป็นต้นแบบการจัดบริการที่ดีที่ใช้ชุมชนเป็นฐานซึ่งเดิมใช้โรงพยาบาลเป็นฐาน ซึ่งทำให้ค่าใช้จ่ายต่างๆถูกลงและเป็นการบริหารจัดการได้อย่างยั่งยืน”นพ.การุณย์ กล่าว