สรพ.ลงพื้นที่เชียงราย ถอดบทเรียน รพ.คุณภาพมาตรฐานHA ตามรอยระบบการจัดการเวชศาสตร์ฉุกเฉิน

796

เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2562 นพ.กิตตินันท์  อนรรฆมณี  ผู้อำนวยการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.)พร้อมรองผอ.สรพ.และเจ้าหน้าที่นำคณะสื่อมวลชนศึกษาดูงานการพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาลมาตรฐานHA ในพื้นที่ โรงพยาบาลแม่สาย จังหวัดเชียงราย เพื่อดูความก้าวหน้าของการพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาลในพื้นที่  และการจัดระบบการส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉิน รวมถึงงานพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาลเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุข กรณีเหตุการณ์ 13 หมูป่าที่ติดถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน

โดยมีน.พ.ศิริศักดิ์ นันทะ ผอ.รพ.แม่สาย(รพ.ชุมชน)ให้การต้อนรับในฐานะเจ้าของพื้นที่ พร้อมทั้ง นพ.วัชรพงษ์ คำหล้า นายแพทย์เชี่ยวชาญ(ด้านวชกรรมป้องกัน) และรองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงราย  นพ.สมศักดิ์ อุทัยพิบูลย์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ (รพ.ประจำจังหวัด) ซึ่งเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ในการรองรับโรงพยาบาลเครือข่ายในจังหวัดเชียงราย และระบบการจัดการเวชศาสตร์ฉุกเฉิน(หน่อย ER)

นพ.กิตตินันท์  กล่าวว่า ทางสถาบันรับรองคุณภาพและสถานพยาบาล(องค์กรมหาชน) หรือ สรพ. ได้จัดกิจกรรมนำคณะสื่อมวลชนศึกษาดูงานการพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาลมาตรฐานHA ในพื้นที่ จังหวัดเชียงราย จำนวน 2 วัน ได้แก่ โรงพยาบาลแม่สาย และโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ เพื่อศึกษาดูงานโรงพยาบาลที่ผ่านการประเมินและรับรองกระบวนการคุณภาพมาตรฐาน  HA  ซึ่งจังหวัดเชียงรายได้มีการพัฒนาระบบการส่งต่อผู้ป่วยในกรณีฉุกเฉิน หรือการจัดการเวชศาสตร์ฉุกเฉิน ที่เป็นระบบที่เอื้อต่อความปลอดภัยของผู้ป่วยเป็นอย่างดียิ่งโดยโรงพยาบาลทั้ง 2 แห่งนี้ ผ่านการประเมินและรับรองคุณภาพมาตรฐาน HA จากสรพ.แล้ว.

อีกทั้งสามารถบริหารจัดการงานในด้านต่างๆได้ดี ส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับประโยชน์สูงสุด เช่น มีระบบการจัดการผู้ป่วยฉุกเฉินได้อย่างมีระบบ เป็นไปตามมาตรฐานสากล โดยเฉพาะในกรณีของ 13 หมู่ป่า ที่ทำให้เห็นถึงการเตรียมความพร้อมในการส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉินในภาวะเหตุการณ์ที่ไม่ปกติ ส่งผลให้ 13 หมู่ป่าและโค้ชได้รับการส่งต่อและเข้ารับการรักษาอย่างรวดเร็วและทันท่วงที

ผอ.สรพ. กล่าวด้วยว่า ประเทศไทยมีโรงพยาบาลที่ได้รับการรับรองกระบวนการคุณภาพมาตรฐาน HA ทั้งสิ้น 782 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 66.04 ของโรงพยาบาลทั้งหมด เป็นโรงพยาบาลภาครัฐ 699 แห่ง และภาคเอกชน 83 แห่ง โดยเปอร์เซ็นต์การรับรองประกอบด้วย ประเภทโรงพยาบาลชุมชนร้อยละ 77.85 โรงพยาบาลทั่วไป ร้อยละ 88.54 โรงพยาบาลศูนย์ ร้อยละ87.88 โรงพยาบาลรัฐอื่นๆในสังกัดสธ.ร้อยละ 73.44 โรงเรียนแพทย์/รพ.มหาวิทยาลัย ร้อยละ92.31 ขั้น3รวมโรงพยาบาลที่ได้รับการรับรองขั้นก้าวหน้ากรุงเทพมหานครสังกัดกทม.ร้อยละ 87.50

ด้าน นพ.วัชรพงษ์  คำหล้า รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า กระบวนการพัฒนาคุณภาพของโรงพยาบาลเชียงรายอยู่ภายใต้กลุ่มงานพัฒนาคุณภาพระบบบริการภายใต้มาตรฐานในระบบHA โดยมีรพ.ในสังกัด18แห่ง ผ่านโรงพยาบาลมาตรฐาน HA ขั้น3 จำนวน17 แห่ง และอีก1 แห่ง คือ รพ.ดอยหลวง ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีอาคารผู้ป่วยใน เพราะรพ.เพิ่งเปิดได้แค่2-3ปี อยู่ระหว่างการวางระบบ แต่อย่างไรก็ตาม โดยระบบทั่วไป ก็อยู่ในมาตรการ HA ในการดูแลผู้ป่วยนอก และยังมีกลุ่มงานที่รับผิดชอบโดยตรงคอยดูแล ตรวจเยี่ยม กระตุ้น รพ.ด้วย

นพ.วัชรพงษ์ กล่าวว่า นอกเหนือจากการพัฒนาคุณภาพต่อเนื่องยังเป็นหนึ่งในเครือข่ายศูนย์ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาลหรือ HACCของสรพ.อีกด้วยโดยศูนย์ HACC รพ.เชียงรายฯ เป็นศูนย์พี่เลี้ยงใหญ่ทางด้านวิชาการ ลิงค์ข้อมูลโดยตรงกับสรพ. และรพ.ในสังกัด ละเป็นพี่เลี้ยงช่วยส่งผลงานHAฟอรั่มประจำปี มาสู่การทำความเข้าใจเพื่อนำไปสู่การปฎิบัติที่เข้าใจง่ายและนำไปใช้ในการทำงานได้โดยตรงโดยมีการติดตามดูแลช่วยเหลือเมื่อมีการร้องขอ เช่น รพ.ในชุมชนขนาดเล็กซึ่งในส่วนนี้จะทำหน้าที่ในการดูแลเพื่อให้เกิดพลังและไม่รู้สึกถูกทอดทิ้งเพื่อการบริการได้มีคุณภาพซึ่งท้ายที่สุดจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนซึ่งศูนย์HACCยังดูแลรวมทั้งจังหวัดพะเยาด้วย

ด้าน นพ.สมศักดิ์ อุทัยพิบูลย์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ กล่าวว่า ระบบการรับส่งต่อผู้ป่วยภาวะฉุกเฉินให้มีประสิทธิภาพนั้นต้อง เตรียมความพร้อม คน สถานที่ ตัวระบบรองรับสถานการณ์ รวมทั้งเป็นการทำงานร่วมมือกันอย่างบูรณาการของหลายทีม ไม่ว่าจะเป็น ทีม แพทย์ พยาบาล ตำรวจ ทหาร และเจ้าหน้าที่แต่ละภาคส่วน ในการดำเนินการภายใต้จุดมุ่งหมายเดียวกัน  ที่ผ่านมา รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ ถือเป็นรพ.ศูนย์ที่ดูแลทั้งจังหวัด จึงมีระบบศูนย์ AOC หรือระบบบริหารจัดการพยาบาลแบบรวมศูนย์ (Ambulance Operation Center)โดยเฉพาะปัญหาการรีเฟอร์ส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉินที่แพทย์สามารถดูแลสั่งการรักษาได้ตลอด ด้วยการติดตั้งกล้องภายในตัวรถAmbulanceหรือรถพยาบาลฉุกเฉินในขณะขับรับคนไข้ฉุกฉินส่งต่อรพ.ในพื้นที่จ.เชียงราย พะเยา  ซึ่งการติดตั้งระบบ AOC เป็นช่วงที่พี่ตูน บอดี้แสลม ได้บริจาคเงินสำหรับซื้อเครื่องมือทางการแพทย์  จึงนำงบประมาณตรงนั้น มาติดตั้งระบบAOC ซึ่งกรณีฉุกเฉินหมูป่า 13 ชีวิตก็ดำเนินการโดยผ่านระบบศูนย์ AOC เช่นกัน

“ขณะนี้ เราได้มีการพัฒนาต่อเนื่อง โดยจะมีการติดตั้งระบบในรถพยาบาลชุมชนในจังหวัดเชียงราย และในล็อต 2 จะมีการติดตั้งที่ในรถพยาบาลชุมชนของจังหวัดพะเยาด้วยทั้งจังหวัดเช่นเดียวกัน เรามีการติดระบบAOC ในรถพยาบาลชุมชน ซึ่งภายในรถจะมีระบบกล้องผ่านระบบอินเตอร์เนต ติดต่อกับศูนย์AOC ที่รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ ซึ่งสามารถเห็นภาพผู้ป่วย ตั้งแต่ต้นทาง จนถึงปลายทาง ทั้งอาการของผู้ป่วย ก็จะมีทีมปรึกษา ให้คำแนะนำ เจ้าหน้าที่ในรถให้สามารถดำเนินการแก้ไขได้ทันทีเพื่อช่วยเหลือชีวิตผู้ป่วยอย่างรวดเร็วที่สุดผ่านระบบสื่อสารด้วยภาพและเสียงแบบเรียลไทม์  ซึ่งสามารถเตรียมการรักษา ได้ถูกต้องทันท่วงที รวมทั้งเราสามารถควบคุม ติดตาม การขับรถของพนักงานขับรถได้ เช่นความเร็ว ซึ่งถือเป็นระบบที่ทันสมัยและเพื่อสร้างความปลอดภัย โอกาสรอดชีวิตให้กับผู้ป่วยได้มากที่สุด” นพ.สมศักดิ์ กล่าว