ททท.ภาคอีสาน แถลงแผนการตลาดในไตรมาส 2 เน้นขับเคลื่อนท่องเที่ยวชุมชนเมืองรอง

1056

นายสมชาย ชมภูน้อย ผู้อำนวยการ ภูมิภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังแถลง “แนวทางการขับเคลื่อนตลาดด้านการท่องเที่ยว ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ(อีสาน)ในเชิงบูรณาการ” ประจำปี 2562 ในไตรมาส 2 (เดือนมกราคม มีนาคม 2562) ตามปีงบประมาณ 2562 ที่พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต หมู่บ้านขี้เหล็กใหญ่ ต.หนองพันทา อ.โซ่พิสัย จ.บึงกาฬ  เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2562 ที่ผ่านมา พร้อมสรุปแผนปฏิบัติการในไตรมาสแรก (เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม ธันวาคม 2561ซึ่งได้มีการจัดประชุมไปแล้วที่จ.ชัยภูมิ)

โดยมีผู้อำนวยการ​ ททท. 8 สำนักงาน​ ดูแลรับผิดชอบพื้นที่ภาคอีสานทั้งหมด 20 จังหวัด​ ตัวแทนผู้ประกอบการ และสมาคมผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยวจากส่วนกลาง​(กทม.) เครือข่ายพันธมิตรท่องเที่ยวทั้งภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ สื่อมวลชนจากส่วนกลางและท้องถิ่น เข้าร่วมรับฟังจำนวนมาก พร้อมมีแนวคิดจัดทัวร์เดินทางท่องเที่ยว ตามรอย คณะรัฐมนตรีสัญจร บึงกาฬ-หนองคาย ด้วย

นายสมชาย ผู้อำนวยการ ภูมิภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ททท. กล่าวว่า ไตรมาส 2​ นี้​ จะเน้นส่งเสริมท่องเที่ยวชุมชน โดยชุมชน ตามรอย ครม. เพื่อเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวเข้าสู่เมืองรองตามนโยบายของรัฐบาล​  ที่ต้องการลดความเหลื่อมล้ำ กระตุ้นเศรษฐกิจและรายได้ ให้เพิ่มขึ้น 10 % โดยจะเป็นการปรับสัดส่วนให้ลงสู่เศรษฐกิจฐานรากไม่ต่ำกว่า 92,000 ล้านบาท ในภาคอีสาน คาดว่าจะสร้างบรรยากาศ  เร่งการเดินทางท่องเที่ยวไปยังเมืองรองและชุมชนอย่างคึกคักและต่อเนื่องต่อไป  ส่วนแนวทางการขับเคลื่อนแผนตลาดท่องเที่ยวภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปี 2562 เน้นเรื่อง COOL ISAN(คูล อีสาน)ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวเมืองรองในภาคอีสาน ที่นักท่องเที่ยวจะได้พบกับ มุมมองใหม่ สร้างแนวคิด การตลาดที่ทันสมัย สร้างการจดจำ ปรับภาพลักษณ์ท่องเที่ยวภาคอีสานนำเสนอมุมมองท่องเที่ยวใหม่ๆต่อยอดของเก่ากับ Theme(ธีม) ” อีสานแซ่บนัว ” ที่เน้น : เรื่องราวของวัฒนธรรมอาหารพื้นบ้านในท้องถิ่น

นายสมชาย กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ COOL ISAN ยังเป็นการเพื่อสร้างการรับรู้ให้กับนักท่องเที่ยวว่า  อีสานเที่ยวง่าย เที่ยวใกล้ สะดวก สะอาด ปลอดภัย เท่ ทันสมัย สำหรับนักท่องเที่ยวทุกกลุ่มทุกคนทุกชาติทุกภาษา กระตุ้นกิจกรรมการเดินทางท่องเที่ยว เพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว และรายได้ในพื้นที่อีสานเพิ่มมากขึ้น ส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางท่องเที่ยวประเทศไทยมีกว่า40ล้านคนต่อปีนั้น​ ในจำนวนนี้มีชาวจีนกว่า10ล้านคน​ ซึ่งททท. ภาคอีสานมั่นใจว่า​ภายในปีนึ้จะมีนักท่องเที่ยวจีนมาท่องเที่ยวในภาคอีสานมากขึ้น​ เพราะสามารถเดินทางสะดวกโดยเฉพาะเครื่องบิน​  และมั่นใจว่าภายในปี 2565  จะมีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้ามามากขึ้นจากนโยบายวันเบ้ลท์​ วันโร้ด  ที่ทำให้การคมนาคมด้วยรถไฟหรือระบบราง​เสร็จสมบูรณ์​  เชื่อมโยงจากจีนไปทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น​ เชื่อว่าจะมีนักท่องเที่ยวจากจีนสนใจมาท่องเที่ยวภาคอีสานมากขึ้นแบบก้าวกระโดดแน่นอน​

นายสมชาย กล่าวต่ออีกว่า การที่เราเน้นให้นักท่องเที่ยวมาเที่ยวเมืองรอง เพื่อต้องการให้เห็นถึงศักยภาพของเมืองรองในมุมมองใหม่ๆ ที่ต้องการให้ชุมชนได้ประโยชน์จากเม็ดเงินที่ได้จากนักท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหารท้องถิ่น วิถีชีวิต สินค้าทีทำจากชาวบ้านในพื้นถิ่น รวมถึงความพิเศษของชาวอีสาน คือเรื่องราว “พญานาค” และที่หมู่บ้านที่นักท่องเที่ยวจะได้มาสัมผัส คือ  การเล่าเรื่องราวของ พญานาคผ่านภาพวาดตามฝาบ้านที่เป็นจุดให้นักท่องเที่ยวได้มาเช็คอินถึง 22 จุด( Street Art บึงกาฬ) เช่น พญานาคเลี้ยงเป็ด,พญานาคตัดผม,พญานาครดน้ำเกษตรพอเพียง เป็นต้น ที่จะให้ชุมชนเป็นผู้บริหารจัดการ และดำเนินการเอง ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมรายได้เข้าชุมชนอย่างแท้จริง อีกทั้งยังเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวสตรีทอาร์ท(Street Art)ภาพวาดพญานาคกับอาชีพของชุมชนแห่งแรกในประเทศไทย เชื่อว่าจะทำให้เกิดความประทับใจทั้งผู้ให้และผู้รับ นี่คือความสุขที่เราพยายามส่งเสริมการตลาดท่องเที่ยวอีสานให้มีความทันสมัย สะดวกสบาย สะอาด ปลอดภัย และมีความยั่งยืนต่อไปในอนาคต

ด้านนายเสกสรร ศรีไพรวรรณ ผอ.ททท.สำนักงานอุดรธานี รับผิดชอบพื้นที่ บึงกาฬ หนองคาย อุดรธานี กล่าวถึงการต่อยอดแนวคิด การท่องเที่ยวสตรีทอาร์ท จากพิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต โซ่พิสัย จ.บึงกาฬ โดยนำวิถีชุมชนผสมผสานงานศิลปะว่า จากแนวนโยบายของผู้อำนวยการ ภูมิภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ททท.ที่ต้องการให้สอดรับกับนโยบายของรัฐบาล  เราได้มีการต่อยอดโดยร่วมกับพิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต ที่มีนายสุทธิพงษ์ สุริยะ เป็นผู้ก่อตั้ง และมีการแสดงแนวคิดในการสื่อสารโดยใช้เรื่องราวศิลปะเข้ามาผสมผสานในชุมชน  มีงานศิลปะที่เป็นจุดเช็คอินเรื่องราวของพญานาคกับอาชีพของชุมชนถึง 22 จุด โครงการนี้เป็นโครงการที่ได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นชุมชนโซ่พิสัย  หรือนักศึกษาจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล.) ททท. และหน่วยงานจากภาครัฐและ เอกชน เข้ามาผลักดันทำให้เกิดการสร้างสรรค์งานศิลปะ “พญานาค”

นายเสกสรร กล่าวต่อว่า งานศิลปะ “พญานาค”ที่โซ่พิสัยจะมีความโดดเด่นที่แตกต่างจากที่อื่นในเรื่องของ การใช้สีสัน อัตลักษณ์ให้เห็น อาชีพของผู้คนในหมู่บ้าน แต่ละหลัง แต่ละหลังคาเรือนจะมีการออกแบบงานพญานาคแตกต่างกันออกไป ดังนั้นจึงอยากเชิญชวนนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติได้เข้ามาสัมผัส การท่องเที่ยวชุมชนโดยชุมชน ที่จ.บึงกาฬ