อธิการบดี มทร.รัตนโกสินทร์ เผยวิสัยทัศน์เชิงกลยุทธ์ 2562 ด้านการ”ผลิตบัณฑิตนักปฏิบัติ”

1144

เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2562 ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ (มทร.รัตนโกสินทร์)ผศ.ศิวะ วสุนธราภิวัฒก์ อธิการบดี มทร.รัตนโกสินทร์ ศาลายา จ.นครปฐม ให้สัมภาษณ์พิเศษถึงวิสัยทัศน์เชิงกลยุทธ์เพื่อขับเคลื่อนให้มหาวิทยาลัยสู่ความเป็นเลิศ “ด้านการผลิตบัณฑิตนักปฏิบัติ” ที่มุ่งจบออกไปเป็นผู้ประกอบการที่มีคุณภาพ รวมทั้งแถลง “ค่านิยมองค์กร MOVE UP-ยกระดับพร้อมขับเคลื่อน เพื่อให้บุคลากรของมหาวิทยาลัยยึดถือปฏิบัติในทิศทางเดียวกัน”ต้อนรับปี 2562 ว่า

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ มีอายุครบ 14 ปี เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2562 เหมือนเป็นมหาวิทยาลัยที่อายุยังไม่มาก แต่จริงๆแล้ว การกำเนิดมทร.รัตนโกสินทร์เป็นการรวมตัวกันของสถาบันการศึกษาที่เก่าแก่ ประกอบด้วย 4 พื้นที่ได้แก่

1.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ “พื้นที่ศาลายา”

2.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ “พื้นที่บพิตรพิมุข จักรวรรดิ”

  1. วิทยาลัยเพาะช่าง

และ4.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ “วิทยาเขตวังไกลกังวล”

 ซึ่งแต่ละพื้นที่มีจุดแข็งจุดเด่นที่แตกต่างกัน

ผศ.ศิวะ กล่าวว่า สำหรับปี 2562 นั้น มทร.รัตนโกสินทร์ ตั้งเป้าขับเคลื่อนเพื่อยกระดับมหาวิทยาลัยให้เป็นเลิศในหลายๆด้าน  เริ่มด้วย “การประกาศค่านิยมองค์กร MOVE UP ยกระดับพร้อมขับเคลื่อน”

M คือ ก้าวสู่นวัตกรรม(Move to innovation)

o คือ สำนึกความเป็นเจ้าขององค์กร (ownership)

V คือ สอนสร้างเสริมเพิ่มคุณค่า (value)

E คือ ศรัทธาหลักธรรมาภิบาล (ethics)

u คือสมัครสมานสามัคคี (unity)

และ P คือ ประสิทธิภาพดีมีวินัย (performance) โดยค่านิยมดังกล่าวบุคลากรของมหาวิทยาลัยจะต้องถือปฏิบัตินำไปใช้ทั้งเรื่องการทำงานและการเรียนการสอน

ส่วนของหลักสูตรการเรียนการสอน เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำแห่งสังคมการประกอบการ(SMART Entrepreneur) หลักสูตรต่างๆ จะมุ่งสอนให้นักศึกษาเมื่อจบออกไปแล้วต้องทำงานเป็น หรือต้องเป็นบัณฑิตนักปฏิบัติ สิ่งที่เรียนรู้จากมหาวิทยาลัยต้องสามารถนำไปทำงานได้จริง เน้นปฏิบัติมากกว่าทฤษฎี

“ในเร็วๆนี้ทุกสาขาวิชาจะต้องใช้ระบบสหกิจศึกษาแทนการฝึกงาน โดยเข้าไปเรียนรู้ฝึกฝนในสถานประกอบการจริง ซึ่งสามารถไปฝึกได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ  สำหรับในเรื่องของการเรียนภาคทฤษฎีนั้นเด็กสมัยนี้เป็นเด็ก Gen Z เขามีความเชี่ยวชาญทางเทคโนโลยี หลักทฤษฎีต่างๆ เขาสามารถเรียนรู้ได้จากอินเตอร์เน็ต แต่เมื่อมาเรียนที่มหาวิทยาลัยเขาจะได้รับโจทย์จากผู้สอน ได้เห็นการสาธิตบางอย่างที่เป็นองค์ความรู้เฉพาะเพื่อนำไปฝึกปฏิบัติให้เกิดความชำนาญและยังสามารถสอบถามรับคำเสนอแนะได้อย่างใกล้ชิด เมื่อจบออกไปสู่สถานประกอบการเขาจะสามารถลงมือทำงานได้ทันที  เราจึงให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก”อธิการบดี มทร.รัตนโกสินทร์ ศาลายา กล่าว

ผศ.ศิวะ กล่าวต่ออีกว่า สำหรับอาจารย์ผู้สอน ต้องปรับตัวให้ทันเด็ก ต้องนำเทคโนโลยีมาช่วยในการเรียนการสอนไม่ใช่เพียงแค่เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับสาขาวิชาเท่านั้น แต่ควรเป็นที่ปรึกษาอำนวยความสะดวกแก่นักศึกษามีหลายช่องทางปัจจุบันใช้ทั้งกลุ่มไลน์ กลุ่มเฟสบุ๊ค ใช้การสื่อสารออนไลน์เข้ามาช่วยทำให้สามารถตรวจงานพร้อมให้คำปรึกษาได้อย่างสะดวกรวดเร็ว  อย่างไรก็ตามในช่วงปิดเทอมมหาวิทยาลัยส่งเสริมสนับสนุนให้อาจารย์ไปเพิ่มพูนความรู้ในสถานประกอบการเพื่อนำความรู้ ประสบการณ์ตรงที่ได้จากสถานประกอบการมาถ่ายทอดให้ความรู้แก่นักศึกษาเพื่อให้การเรียนการสอนมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับโลกการทำงานจริง

“หลักสูตรที่นี่ไม่ถึงขั้นเป็นออนไลน์ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพียงแต่นำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับยุคสมัย ตัวอย่างการเรียนการสอนระดับปริญญาโท ปริญญาเอกของวิทยาลัยนวัตกรรมการจัดการ ก็มีการเรียนการสอนการทำบัญชีดิจิตอล เทคโนโลยีจะถูกแทรกเข้ามาแทบทุกสาขาวิชา เราพยายามเปิดแผนการสอนใหม่ๆ  ล่าสุดเปิดคณะวิทยาศาสตร์สาขาวิชาวิทยาการแปรรูปและการประกอบอาหารที่เมื่อจบแล้วสามารถที่จะเข้าไปทำงานได้ทั้งในสถานประกอบการ และเป็นผู้ประกอบการเองได้ด้วย

หลักสูตรการโรงแรมและการท่องเที่ยวก็มีโรงแรมให้ฝึกปฏิบัติงานจริงทั้งราชมงคลชมคลื่นที่หัวหินและรัตนโกสินทร์เพลสที่ศาลายา  และเร็วๆนี้วิทยาลัยนานาชาติก็กำลังเปิดคนที่มาเรียนจะได้ปริญญาสองดีกรีจากมทร.รัตนโกสินทร์และจากมหาวิทยาลัยที่ประเทศฝรั่งเศส  ผมยังมีแนวคิดอยากเปิดการสอนด้านวิทยาศาสตร์เวชศาสตร์ความงาม รวมทั้งหลักสูตรอาชีพที่ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุเรียนได้เพราะสังคมไทยกำลังก้าวเข้าสู่ยุคสังคมผู้สูงอายุ (Aging society)ประชาชนกลุ่มนี้มีจำนวนมากขึ้นเราก็เริ่มมีหลักสูตรระยะสั้นๆในรูปแบบบริการวิชาการบ้าง เช่น วิทยาลัยเพาะช่าง ชำนาญเรื่องงานศิลปะก็เปิดสอนให้ผู้สูงอายุมาวาดรูป มาทำงานศิลปะ เป็นต้น” ผศ.ศิวะ กล่าวและว่า นอกจากนี้มหาวิทยาลัยยังเน้นผลิตบัณฑิตที่เป็นนักปฏิบัติเก่งแล้วยังเน้นเรื่องของความเป็นคนดีด้วย เพราะถ้าเก่งแล้วไม่ดีเมื่อออกไปสู่สังคมก็ไปสร้างปัญหาให้สังคมอีก มหาวิทยาลัยนำวิชาหน้าที่พลเมืองหรือวิชาศีลธรรมมาสอนโดยคณะศิลปศาสตร์เป็นผู้รับผิดชอบ เพราะเราตระหนักว่าการสร้างคนเก่งย่อมขับเคลื่อนให้บ้านเมืองพัฒนา การสร้างคนดีย่อมขับเคลื่อนให้ประเทศเรามีสังคมที่น่าอยู่