เลขาธิการ สปสช. ลงพื้นที่เขต 1 เชียงใหม่ ดูแล “ผู้ต้องขัง เข้าถึงสิทธิหลักประกันสุขภาพ” พบมีผู้ต้องขังในพื้นที่ลงทะเบียนสิทธิแล้ว ร้อยละ 72.61 พร้อมเยี่ยมชมการจัดบริการสถานพยาบาลในเรือนจำกลางเชียงใหม่ ร่วมรุกพัฒนาระบบการรักษาและบริการสุขภาพที่จำเป็นสำหรับผู้ต้องขัง
เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2562 ที่เรือนจำกลางเชียงใหม่ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้นำคณะผู้บริหาร สปสช. ลงพื้นที่ศึกษาดูงาน “การจัดบริการสุขภาพสำหรับผู้ต้องขังใน เรือนจำกลางเชียงใหม่”ซึ่งเป็นเรือนจำที่มีผู้ต้องขังเป็นชายล้วน โดยมี นายสุรศักดิ์ เผื่อนคำ ผู้บัญชาการเรือนจำกลางเชียงใหม่ ให้การต้อนรับ
นายสุรศักดิ์ ผู้บัญชาการเรือนจำกลางเชียงใหม่ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า เรือนจำกลางเชียงใหม่ เป็นเรือนจำที่มีผู้ต้องขังนักโทษชายล้วนที่ต้องโทษคดีสูงสุดถึงขั้นจำคุกตลอดชีวิต สังกัดกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม ส่วนใหญ่ต้องโทษคดียาเสพติดถึง 80% เป็นเรือนจำกลางประจำเขต 5 โดยผู้ต้องโทษส่วนใหญ่ที่เข้ามาเกือบทุกคนมีโรคประจำตัวอยู่ก่อนแล้ว ปัจจุบันมีผู้ต้องโทษในเรือนจำกลางเชียงใหม่ อ.แม่แตงมีทั้งหมด 7,516 คน ทุกคนมีสิทธิ์ในการรักษาพยาบาลโดยใช้บัตรหลักประกันสุขภาพ(บัตรทอง) ซึ่งเรือนจำกลางเชียงใหม่ได้รับการสนับสนุนและทำ MOU หรือบันทึกข้อตกลงกับ สปสช.ในการดูแล
หากผู้ต้องหาคนใดมีอาการวิกฤตก็จะส่งต่อไปยังรพ.แม่แตง,รพ.นครพิงค์ ,รพ.มหาราชเชียงใหม่ และรพ.สวนปรุงเชียงใหม่ เพื่อทำการรักษา อีกทั้งภายในเรือนจำยังมีเรือนพยาบาลไว้ค่อยให้บริการกับผู้ต้องหา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการตรวจคัดกรองโรคจาก ผู้ต้องขังที่ได้รับการฝึกเป็นอสม.ในการช่วยเหลือเจ้าหน้าพยาบาลที่ในการกรองโรคหรือเรียกว่า (คลินิกสุขภาวะ) มีการตรวจสุขภาพฟันหรือทำทัตนกรรมกับผู้ต้องหาเดือนละ 1 ครั้ง ทำให้ปัจจุบันผู้ต้องหาส่วนใหญ่เข้าถึงการรักษาพยาบาลเพิ่มมากขึ้น และทำให้ผู้ต้องขังมีสุขภาพดีขึ้น นอกจากนี้ยังมีการให้ผู้ต้องขังทุกคนมีการออกกำลังกาย 10 ท่าพญายม เพื่อส่งเสริมสุขภาพ การเดินสวนสนาม ทั้งนี้เพื่อเป็นการฝึกเรื่องของการมีระเบียบวินัยด้วย
ด้านนพ.ศักดิ์ชัย กล่าวภายหลังเยี่ยมชมการจัดบริการสถานพยาบาลในเรือนจำกลางเชียงใหม่ ว่า ก่อนหน้านี้ “ผู้ต้องขังในเรือนจำ” ถือเป็น “กลุ่มเปาะบาง” เข้าไปถึงระบบบริการสุขภาพ โดยมีปัญหาทั้งการเข้าถึงสิทธิและระบบการให้บริการ ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันวันที่ 17 พฤศจิกายน 2558 จึงมีมติให้กระทรวงสาธารณสุข กรมราชทัณฑ์ และ สปสช. ร่วมสนับสนุนการพัฒนาและการจัดระบบบริการสาธารณสุขสำหรับผู้ต้องขังให้ครอบคลุมทั้งการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันควบคุมและกำจัดโรค การรักษาพยาบาล การฟื้นฟูสมรรถภาพและการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสาธารณสุข โดยทั้ง 3 หน่วยงาน ได้มีการลงนามบันทึกความร่วมมือเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2562 เพื่อความร่วมมือในการพัฒนาระบบตามภารกิจและบทบาทหน้าที่ขององค์กร
เลขาธิการ สปสช. กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ที่ผ่านมาแต่ละหน่วยงานได้มีการดำเนินงานและมีผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยการดำเนินงานในส่วนของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ อาทิ การขึ้นทะเบียนสถานพยาบาลในเรือนจำเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิและหน่วยบริการประจำ, ลงทะเบียนสิทธิผู้ต้องขังในระบบหลักประกันสุขภาพ, จัดสรรงบประมาณและจ่ายชดเชยค่าบริการภายใต้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเพื่อดูแลผู้ต้องขัง และจัดทำระบบข้อมูลบริการ ระบบการเงินและคุณภาพ
จากข้อมูลเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2562 ได้ลงทะเบียนสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้กับผู้ต้องขังทั่วประเทศแล้ว 261,672 คน หรือร้อยละ 91.28 จากผู้ต้องขังในเรือนจำทั้งหมด 286,671 คน นอกนั้นเป็นผู้มีสิทธิรักษาพยาบาลอื่นๆ บุคคลต่างด้าวและบุคคลไม่มีเลข13 หลัก ส่วนการตรวจประเมินและขึ้นทะเบียนสถานพยาบาลเรือนจำ ซึ่งมีอยู่ 143 แห่ง สปสช.ได้ดำเนินการครบทั้งหมดแล้ว
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวอีกว่า พื้นที่เขต 1 เชียงใหม่ เป็นหนึ่งในพื้นที่ซึ่งได้ดำเนินการพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพผู้ต้องขังแล้ว ครอบคลุม 8 จังหวัด โดยในพื้นที่มีเรือนจำทั้งหมด 14 แห่ง และมีผู้ต้องขัง 21,602 คน โดยในส่วนของการลงทะเบียนสิทธิหลักประกันสุขภาพ มีผู้ต้องขังได้รับการลงทะเบียนแล้วร้อยละ 72.61 (ข้อมูล ธ.ค. 61) ซึ่งในส่วนของเรือนจำกลางเชียงใหม่เป็นเรือนจำขนาดใหญ่ มีผู้ต้องขัง 7,385 คน (ข้อมูล ม.ค. 62) แต่ในปัจจุบัน (ข้อมูลวันที่ 18 มีนาคม 2562) มีทั้งสิ้น 7,516 คนและด้วยเป็นเรือนจำที่มีสถานพยาบาลประจำในเรือนจำทำให้มีการรับย้ายผู้ต้องขังที่เจ็บป่วย และมีการส่งต่อรักษา โดยประสานกับโรงพยาบาลแม่แตง โรงพยาบาลนครพิงค์ โรงพยาบาลมหาราชเชียงใหม่ และโรงพยาบาลสวนปรุงเชียงใหม่ ส่งผลให้เป็นเรือนจำที่มีสถิติผู้ป่วยมากกว่าเรือนจำอื่นๆ
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวต่ออีกว่า ขณะที่เรือนจำกลางแม่แตงได้มีการจัดตั้งสถานพยาบาลประจำในเรือนจำเช่นกัน โดยเป็นสถานพยาบาลขนาด 48 เตียง นอกจากมีระบบฟอกอาการและฆ่าเชื้อด้วยแสงยูวีแล้ว ยังมีการจัดทำห้องแยกสำหรับผู้ป่วยติดเชื้อ เช่น วัณโรคเฉพาะ โดยการให้บริการสุขภาพยังเป็นระบบครบวงจร มีแพทย์โรงพยาบาลแม่แตงมาให้บริการตรวจทุกวันพฤหัส และมีแพทย์จากโรงพยาบาลนครพิงค์ และโรงพยาบาลสวนปรุงหมุนเวียนมาตรวจสุขภาพให้กับผู้ต้องขังทุก 3 เดือน ทั้งยังมีแพทย์และทันตแพทย์ที่มาช่วยปฏิบัติในวันหยุด โดยในส่วนของพยาบาลที่นอกจากมีประจำ 4 คนแล้ว เรือนจำแห่งนี้ยังมี อสม.เรือนจำในการช่วยดูแลผู้ป่วย ทำให้ได้รับการดูแลที่ดี