สกสว.ร่วมกับ มก.ส่งมอบกล้าพันธุ์อ้อยปลอดโรคใบขาวให้ 6 โรงงานน้ำตาลแจกเกษตรกร

320

สกสว. ร่วมกับ คณะเกษตร ม.เกษตรศาสตร์ ส่งมอบกล้าพันธุ์อ้อยปลอดโรคใบขาวที่ผลิตโดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ แก่ผู้แทน 6 โรงงานเพื่อนำไปแจกจ่ายเกษตรกรในพื้นที่ หวังแก้ไขปัญหาโรคระบาดสำคัญอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน

เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2562 ที่อาคารวชิรานุสรณ์ คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์(มก.) วิทยาเขตบางเขน ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ผู้อำนวยการฝ่ายการวิจัยมุ่งเป้า ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)หรือ สกว.เก่า พร้อมด้วย ผศ. ดร.สุดเขตต์ นาคะเสถียร คณบดีคณะเกษตรมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์(มก.) และเกษตรกรสักขีพยาน ร่วมพิธีมอบกล้าพันธุ์อ้อยปลอดโรคใบขาวคือ พันธุ์ขอนแก่น 3 และพันธุ์ LK92-11 จำนวนทั้งสิ้น 100,000 ต้น แก่คณะผู้แทนจากโรงงานน้ำตาลต่าง ๆ รวม 6 โรงงาน

เพื่อนำไปแจกจ่ายให้กับเกษตรกรในพื้นที่ ประกอบด้วย บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) (KSL), บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน), บริษัท ธาอัส จำกัด (Crop Tech Asia, CTA), โรงงานน้ำตาลพิษณุโลก กลุ่มบริษัทน้ำตาลไทยรุ่งเรือง, บริษัท น้ำตาลวังขนาย จำกัด และบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

พิธีมอบกล้าพันธุ์อ้อยปลอดโรคใบขาวในครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อกระจายพันธุ์อ้อยปลอดโรคใบขาวให้กับเกษตรกร และถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตอ้อยปลอดโรคใบขาว รวมถึงชี้แจงแนวปฏิบัติของเกษตรกรที่จะรับต้นพันธุ์อ้อยปลอดโรคใบขาวที่ผลิตได้จากโครงการฯ ให้กับเจ้าหน้าที่โรงงานน้ำตาลและผู้สนใจ เพื่อนำไปปลูกในแปลงพันธุ์ขยายต่อไป ทำให้ช่วยลดการระบาดของโรคใบขาวในพื้นที่ได้ดียิ่งขึ้น

โดย สกสว. ได้บริหารจัดการงานวิจัยกลุ่มเรื่องอ้อยและน้ำตาลตั้งแต่ปี 2556 มีจำนวนโครงการ 166 โครงการ งบประมาณรวม 400 ล้านบาท ซึ่งก่อให้เกิดผลงานวิจัยที่มีศักยภาพและสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจ เชิงสังคมและชุมชน เชิงนโยบาย รวมถึงเป็นองค์ความรู้ที่ผู้เกี่ยวข้องนำไปต่อยอดงานวิจัยได้มากมาย โดยมีกลุ่มเป้าหมายชัดเจนและเกิดความร่วมมือระหว่างนักวิจัย ภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง

โรคใบขาวอ้อยเป็นโรคที่มีความสำคัญอันดับหนึ่งของการผลิตอ้อยในประเทศไทย และมีการระบาดอย่างต่อเนื่องปีละไม่น้อยกว่า 200,000 ไร่ คิดเป็นมูลค่าความเสียหายไม่น้อยกว่า 2,000 ล้านบาท สาเหตุโรคเกิดจากเชื้อไฟโตพลาสมาซึ่งแพร่กระจายโดยการถ่ายทอดติดไปกับท่อนพันธุ์จากต้นหรือตอที่เป็นโรคใบขาว และสามารถถ่ายทอดเชื้อได้โดยมีแมลงปากดูดพวกเพลี้ยจักจั่นเป็นแมลงพาหะ

จากการขยายกำลังการผลิตอ้อยโดยการเพิ่มพื้นที่ปลูกทำให้เกิดการขาดแคลนท่อนพันธุ์ จึงทำให้เกิดการขนย้ายท่อนพันธุ์ซึ่งส่วนใหญ่เป็นท่อนพันธุ์ที่มีเชื้อไฟโตพลาสมาแฝงอยู่ข้ามไปยังพื้นที่ต่าง ๆ เกิดการกระจายของโรคไปยังทุกแหล่งเพาะปลูกอย่างรวดเร็ว ชาวไร่อ้อยส่วนใหญ่มักเก็บอ้อยที่ปลูกส่งโรงงานไว้ใช้ทำพันธุ์ต่อ จึงมีการระบาดโรคเพิ่มขึ้นและขยายวงกว้างขึ้นในทุกปี เกิดการสะสมโรคใบขาวก่อให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรงในระยะยาว

คณะนักวิจัยนำโดย ผศ. ดร.อุดมศักดิ์ เลิศสุชาตวนิช ภาควิชาโรคพืช คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้รับทุนสนับสนุนโครงการวิจัยตั้งแต่ปี 2559 รวม 3 โครงการ ได้แก่ การขยายผลเทคโนโลยีการผลิตต้นพันธุ์อ้อยปลอดโรคใบขาว ,การจัดทำแปลงพันธุ์ขยายอ้อยปลอดโรคใบขาว และการส่งเสริมและติดตามเทคโนโลยีการผลิตท่อนพันธุ์อ้อยปลอดโรคใบขาวแบบประณีตแนวใหม่สำหรับเกษตรกร จนถึงปัจจุบันได้ส่งมอบต้นพันธุ์เป็นจำนวนทั้งสิ้น 700,000 ต้น

ซึ่งผลิตโดยเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ การผลิตขยายต้นพันธุ์อ้อยปริมาณมากในเชิงอุตสาหกรรมด้วยระบบไบโอรีแอคเตอร์ การชำข้ออ้อยและอนุบาลต้นกล้าในระบบโรงเรือนกันแมลง และผ่านการตรวจโรคด้วยเทคนิคที่มีความไวสูงมาใช้ตรวจเชื้อไฟโตพลาสมาปริมาณน้อย ๆ ในทุกส่วนของต้นอ้อย ได้แก่ เทคนิค PCR (Polymerase chain reaction) และเทคนิค LAMP (Loop mediated isothermal amplification) ซึ่งงานวิจัยนี้เป็นการขยายผลสู่ชาวไร่อ้อยเพื่อลดการแพร่ระบาดของเชื้อไปสู่แหล่งปลูกใหม่ โดยการประสานงานทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน รวมทั้งสถาบันชาวไร่อ้อย เพื่อแก้ไขปัญหาโรคใบขาวอย่างต่อเนื่อง เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมและมีความยั่งยืน