เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2562 นายแพทย์ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) และคณะผู้บริหารประกอบด้วย นายแพทย์การุณย์ คุณติรานนท์ รองเลขาธิการ สปสช.,นายแพทย์รัฐพล เตรียมวิชานนท์ ผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช., นายแพทย์ปรีดา แต้อารักษ์ ผอ.สปสช.เขต7 ขอนแก่น , ดร.บรรจง จำปา ผอ.สำนักบริหารทั่วไป สปสช.ส่วนกลาง
นายวีระชัย ก้อนมณี ผอ.สำนักสนับสนุนระบบบริการสุขภาพชุมชน น.ส.สุทธิรา ตั้งเพียรพันธ์ ผอ.สำนักตรวจสอบ และนายกษาปณ์ เงินรวง ผู้ช่วยผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ผู้บริหาร ธกส. ส่วนกลางและในเขตพื้นที่ ฯพร้อมด้วย นายแพทย์ภาคี ทรัพย์พิพัฒน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด มหาสารคาม, นายวันชัย ศรีวงษ์ญาติดี นายอำเภอวาปีปทุม
ลงพื้นที่มอบที่นอนลมให้กับ นางจู มัดถาปะตัง อายุ 68 ปี ผู้สูงอายุที่ติดบ้านติดเตียง อบต.หนองแสง อ.วาปีปทุม จ.มหาสารคาม ที่มีปัญหา เบาหวาน ความดันโลหิตสูง แขนขาอ่อนแรง และสมองเสื่อม ที่ได้รับการดูแลโดย “ผู้ดูแล (Care Giver)” ที่ผ่านการอบรมตามหลักสูตรของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้ดูแล และมี “ผู้จัดการระบบ (Care Manager)” โดยใช้งบประมาณจาก“กองทุนบริการดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง (LTC) ” ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง (กลุ่มติดบ้านติดเตียง) ได้รับบริการด้านสาธารณสุขตามชุดสิทธิประโยชน์ โดย เทศบาล และ อบต. เป็นเจ้าภาพหลัก
นางจู ได้รับการดูแลจากกองทุนนี้ครั้งแรก เมื่อปี 2560 ผู้ดูแลให้การดูแลตามแผนการดูแลผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง ประมาณ 2 ครั้ง/เดือน โดยเน้นทำกายภาพบำบัด เพื่อฟื้นฟูสภาพร่างกาย ต่อมา ปี 2561-2562 เริ่มช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ผู้ดูแลจึงเปลี่ยนแผนการดูแลใหม่เป็นให้การดูแล สัปดาห์ละ 1 ครั้ง โดยเน้นการทำกายภาพบำบัด ดูแลสุขอนามัยและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้มีความสามารถในการใช้ชีวิตประจำวันตามโครงการฯเรียกย่อว่า สำรวจ ADL
นายแพทย์ศักดิ์ชัย เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2559 สปสช. ได้ร่วมกับ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่มีกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ ร่วมกันจัดตั้ง “กองทุนบริการดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง (กลุ่มติดบ้านติดเตียง) ได้รับบริการด้านสาธารณสุขตามชุดสิทธิประโยชน์ โดย เทศบาล และอบต. เป็นเจ้าภาพหลัก ในการบริหารจัดการระบบการดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง แบบบูรณาการในพื้นที่ ภายใต้การสนับสนุนของเครือข่ายหน่วยบริการปฐมภูมิ (โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ศูนย์บริการการแพทย์) ในพื้นที่ โดยมีเป้าหมายสำคัญคือทำอย่างไรจะป้องกันไม่ให้ผู้สูงอายุที่ยังแข็งแรงมีการเจ็บป่วยจนต้องอยู่ในภาวะพึ่งพิง(ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้) และทำอย่างไรผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงจะได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม โดย สปสช. ได้สนับสนุนงบประมาณเหมาจ่ายให้กองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ที่เข้าร่วมดำเนินการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงในชุมชน ในอัตรา 5,000 บาทต่อคนต่อปี เป็นค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง ตามประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่เกี่ยวข้อง โดยมีเป้าหมายในการดำเนินงาน เพื่อให้ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ที่มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ที่มีคะแนนประเมินความสามารถในการดำเนินชีวิตประจำวันตามดัชนีบาร์เธลเอดีแอล (Barthel ADL index) เท่ากับหรือน้อยกว่า 11 คะแนน (ไม่สามารถดำเนินกิจวัตรประจำวันด้วยตัวเองได้) ได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพ และได้รับการดูแล โดยมี “ผู้ดูแล (Care Giver)” ที่ผ่านการอบรมตามหลักสูตรของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้ดูแล และมี “ผู้จัดการระบบ (Care Manager)” จากหน่วยบริการในพื้นที่ เป็นผู้ประสานงานและเป็นพี่เลี้ยงในการทำงาน
ด้านนายแพทย์ปรีดา แต้อารักษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 7 ขอนแก่น กล่าวว่า ปัจจุบันเขต7มีพื้นที่ 4 จังหวัดในความรับผิดชอบ คือ กาฬสินธุ์ ขอนแก่น มหาสารคาม และ ร้อยเอ็ด มี เทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล เข้าร่วมจัดตั้งกองทุนบริการดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง จำนวน 399 แห่ง จากทั้งหมด 718 แห่ง ที่ร่วมสมทบเงินจักตั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ และจะมีการเปิดรับสมัคร อปท. ที่มีความพร้อมเข้าร่วมจัดตั้งกองทุนในช่วงต้นปีงบประมาณของทุกปี.
นายแพทย์ปรีดา กล่าวว่า ผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงในพื้นที่ อบต.หนองแสง อ.วาปีปทุม จ.มหาสารคาม จำนวน 37 คน โดยปีงบประมาณ 2562 ได้รับงบจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อบริหารกองทุนบริการดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง (LTC) จำนวน 185,000 บาท โดยมีผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงที่ยังเคลื่อนไหวได้บ้างและอาจมีปัญหาการกิน หรือการขับถ่ายแต่ไม่มีภาวะสับสนทางสมอง จำนวน 35 คน และกลุ่มที่เคลื่อนไหวเองไม่ได้และอาจมีปัญหาการกินหรือการขับถ่ายหรืออาจมีอาการเจ็บป่วยรุนแรง จำนวน 2 คน