สกว. กสิกรไทย เผยความสำเร็จโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา กว่า 6 ปี ในพื้นที่ 135 โรงเรียนทั่วประเทศ สร้างห้องเรียนเป็นมิตร ครูเปลี่ยนวิธีสอน เด็กเปลี่ยนวิธีเรียน เสริมทักษะสอดรับทักษะศตวรรษที่ 21 พร้อมเดินหน้าขยายผลสู่พื้นที่ จ.น่าน
เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2562 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และ บมจ. ธนาคารกสิกรไทย จัดกิจกรรมเยี่ยมชมปฏิบัติการเพาะพันธุ์ปัญญา ที่โรงเรียนบ้านไร่ ต.อวน อ.ปัว จ.น่าน 1 ในโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการแล้วเด็กนักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ภายในงานดังกล่าวยังมีกิจกรรมสาธิตห้องเรียนเพาะพันธุ์ปัญญา “Active Learning” ห้องเรียนที่ถูกออกแบบให้นักเรียนเรียนอย่างมีความสุขและสนุก เป็นเจ้าของการสร้างการเรียนรู้ด้วยตนเอง โดยครูผู้สอนที่เข้าใจจริตการเรียนรู้ของนักเรียนที่หลากหลาย ออกแบบการสอนที่ให้นักเรียนทั้งหมดร่วมเรียนรู้ไปด้วยกัน และ กิจกรรม “ฝึกทักษะชีวิตบนการสอนโครงงานฐานวิจัย” ที่มีครูพี่เลี้ยงโค้ชคุณครูสอนวิชา “ทักษะชีวิตผ่านการสอนโครงงานฐานวิจัย”
ซึ่งมี รศ.ดร.สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม. สงขลานครินทร์ ในฐานะหัวหน้าหน่วยจัดการกลางโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา กล่าวต้อนรับสื่อมวลชนพร้อมเปิดเผยกระบวนการทำโครงการวิจัย เพาะพันธุ์ปัญญากับคุณครู
รศ.ดร. สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ หัวหน้าหน่วยจัดการกลางโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา เปิดเผยข้อมูลว่า โครงการเพาะพันธุ์ปัญญาดำเนินการขึ้นมาตั้งปีแต่ปี 2556 และกำลังสิ้นสุดในเดือนพฤษภาคม 2562 ด้วยระยะเวลา 6 ปี โดยมีโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 135 โรงเรียน 842 ห้องเรียน ครูเข้าร่วมโครงการ 4,579 โครงการ และนักเรียนร่วมโครงการ 2,4612 คน แม้ว่าโครงการจะกำลังสิ้นสุดลงแต่ในพื้นที่น่านได้รับความสนใจให้มีการขยายผลต่อ ภายใต้โครงการ “น่าน แซนด์บอกซ์” Nan Sandbox เนื่องจากภาคนโยบายเล็งเห็นว่าโครงการวิจัยดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยฟื้นฟูทรัพยากร จ. น่าน
ทั้งนี้โครงการเพาะพันธุ์ปัญญาเกิดขึ้นภายใต้แนวคิดหลักสำคัญว่า การศึกษาที่แท้จริงควรพัฒนาศักยภาพผู้เรียนให้ดำรงชีวิตได้ภายใต้ความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของโลก โดยเปิดโอกาสให้นักเรียนได้เรียนรู้บนพื้นฐานความสนใจของแต่ละบุคคล มีการตั้งคำถามเพื่อแสวงหาคำตอบที่ถูกต้อง ผ่านกระบวนการวิทยาศาสตร์ ที่เข้าใจความเป็นเหตุเป็นผลของปรากฏการณ์ โดยโครงการเพาะพันธุ์ปัญญามีรูปแบบการเรียนรู้จากการทำโครงงานฐานวิจัยจากเรื่องราวใกล้ตัวเด็กและทำให้เด็กอยากเรียนรู้ โดยครูเป็นผู้อำนวยการจัดการเรียนรู้ด้วยเครื่องมือสำคัญ 3 ประการ คือ การตั้งคำถามกับผู้เรียน (ถามคือสอน) การชวนผู้เรียนสะท้อนความคิด (สะท้อนคิดคือเรียน) และ การให้ผู้เรียนเขียนงานวิชาการและความคิดความรู้สึกขณะทำงาน (เขียนคือคิด) โดยผู้เรียนจะทำงานกลุ่มตั้งแต่กำหนดเรื่องราวที่สนใจ แล้วออกแบบวิธีการหาคำตอบด้วยการทำวิจัย จึงเรียกการเรียนรู้แบบนี้ว่า RBL (Research-Based Learning)
ตลอด 6 ปีของการทำงาน เพาะพันธุ์ปัญญาเกี่ยวข้องกับครูประมาณปีละ 700 คน นักเรียน 4,000 คน มีโรงเรียนที่ผ่านโครงการทั้งสิ้น 135 โรง มีโรงเรียนต้นแบบ 16 โรง เพื่อทำหน้าที่หว่านขยายกล้าพันธุ์แห่งปัญญาที่เป็นผลพวงจาก 6 ปีของเพาะพันธุ์ปัญญา ความสำเร็จสิ่งสำคัญที่สุดคือการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในตัวเด็ก คือ นักเรียนที่เข้าร่วมโครงการมีลักษณะดังนี้ 1.ความกล้า (คิด พูด ทำ ทดลอง เสี่ยง) 2.ความอดทนมุ่งมั่น (รับมือกับการเริ่มใหม่เมื่อผิด การแก้ไข และทำซ้ำได้ดีขึ้น) 3.ทำงานเป็นระบบ (มีผังกระบวนการ ทำตามขั้นตอน มอบหมายความรับผิดชอบ ตรวจประเมิน และปรับแก้) 4.มีเหตุผลและวุฒิภาวะ (คิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ สร้างสรรค์ เอาใจเขามาใส่ใจเรา ควบคุมอารมณ์ได้เมื่อคิดต่าง) 5.สนใจปรากฏการณ์ในชุมชน (กล้าเผชิญโลกที่แปลใหม่จากความเคยชิน สนใจสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดในชุมชน) 6.เปลี่ยนวิธีเรียน (สืบค้นมากกว่าฟัง ทดลองก่อนตัดสินใจเชื่อ เรียนรู้ด้วยความสนุก มีจิตอาสาในสิ่งที่ตนถนัด กำกับการเรียนรู้ของตนเองได้)
ด้านนายรัตน์ จันทโคตร ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านไร่ จ.น่าน ซึ่งเป็นโรงเรียนขยายโอกาส สังกัด สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ ที่เข้าร่วมโครงการ ให้ข้อมูลว่า โรงเรียนบ้านไร่เข้าร่วมโครงการเพาะพันธุ์ปัญญาเมื่อปี 2561 โดยดำเนินโครงการกับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ซึ่งมีนักเรียนจำนวน 19 คน โดยคุณครูปิ่นรัก วิยา และคุณครูทัศนีย์ จันทโคตร ครูแกนนำโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา คือ ได้นำแนวคิดการจัดการเรียนการสอนเพาะพันธุ์ปัญญามาใช้ตลอดปี 2561 ที่ผ่านมา ดำเนินโครงงานฐานวิจัยภายใต้หัวข้อหลักเรื่องข้าวหลาม ซึ่งแบ่งเป็นโครงงานในสาระวิชาวิทยาศาสตร์ 3 เรื่อง สาระวิชาสังคมศาสตร์ 1 เรื่อง สาระวิชามนุษยศาสตร์ 1 เรื่อง ความเปลี่ยนแปลงส่งผลเห็นได้ชัดในตัวเด็ก อย่างกรณีของ เด็กหญิงปิยอร นันศิริ นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ของโรงเรียนบ้านไร่ ที่ได้ถูกถ่ายทอดกระบวนการคิด และการเรียนรู้ของกระบวนการเพาะพันธุ์ปัญญาผ่านครูแกนนำ เมื่อนำเสนอผลงานโครงงานวิจัยของตัวเองผ่านการประชุมวิชาการของโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา พบว่ามีความกล้าแสดงออก มีปฏิภาณและไหวพริบที่ดีในการตอบคำถาม ซึ่งเป็นผลลัพธ์การเปลี่ยนแปลงการเรียนรู้แบบองค์รวมของด.ญ.ปิยอร นอกจากนี้สัมฤทธิผลที่ได้จากการเข้าร่วมโครงการเพาะพันธุ์ปัญญายังทำให้โรงเรียนบ้านไร่ ได้รับรางวัล ทรงคุณค่า สพฐ. ด้านการบริหารจัดการยอดเยี่ยมโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา และนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการยังมีคะแนนสอบ ONET เพิ่มขึ้นอีกด้วย