2สมาคมที่เกี่ยวกับการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ เตรียมจัดงาน “แพ็ค พริ้นท์อินเตอร์เนชั่นแนล 2019 เดือนก.ย.62

448

เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2562 ที่บริษัท คอนติเนนตัล บรรจุภัณฑ์(ประเทศไทย)จำกัด  บางพลี สมุทรปราการ ซึ่งเป็นโรงงานบรรจุภัณฑ์ที่มีเทคโนโลยีล้ำสมัยในการจัดการตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ นายมานิตย์ กมลสุวรรณ  ผู้บริหารบริษัท คอนติเนนตัล บรรจุภัณฑ์(ประเทศไทย)จำกัด ในฐานะนายกสมาคมการบรรจุภัณฑ์ไทย นายพงศ์ธีระ พัฒนพีระเดช นายกสมาคมการพิมพ์ไทย และ คุณเบียทริซ เจ โอ ตัวแทนบริษัท เมสเซ่ ดุเซลดอร์ฟ เอเชีย จำกัด ในฐานะเป็นองค์กรด้านการจัดแสดงสินค้าภาคธุรกิจอุตสาหกรรมระดับโลก) ร่วมกันแถลงข่าวถึงแนวโน้มทิศทางภาคการผลิตไทยเรื่องปริ้นติ้ง(การพิมพ์)-แพ็กเกจจิ้ง(บรรจุภัณฑ์) รวมถึงภาพรวมอุตสาหกรรมการพิมพ์และการบรรจุภัณฑ์ทั้งในไทยและต่างประเทศ  พร้อมเยี่ยมชมโรงงานบรรจุภัณฑ์ด้านอาหาร และอื่นๆที่คุ้นชินในท้องตลาด บรรจุภัณฑ์อาหารบนสายการบิน, เครื่องดื่ม  อาหารสำเร็จรูป  อาหารเพื่อสุขภาพ

นายมานิตย์ นายกสมาคมการบรรจุภัณฑ์ไทย กล่าวว่า จากข้อมูลสมาคมการพิมพ์ไทย และสมาคมการบรรจุภัณฑ์ไทย พบว่า มูลค่าอุตสาหกรรมการพิมพ์และการบรรจุภัณฑ์ไทยในปี 2561 มีมูลค่าร่วม 3 แสนกว่าล้านบาท โดยคิดเป็นอุตสาหกรรมการพิมพ์ราวร้อยละ 40 และการบรรจุภัณฑ์ร้อยละ 60 โดยมีปัจจัยสนับสนุนการเติบโตมาจาก 3 กลุ่มธุรกิจที่มีความต้องการใช้สิ่งพิมพ์และบรรจุภัณฑ์สูงอย่าง ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจเวชภัณฑ์และเครื่องสำอาง และธุรกิจอีคอมเมิร์ซ

นอกจากนี้ เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟเอเชีย ,สมาคมการพิมพ์ไทย และสมาคมการบรรจุภัณฑ์ไทย เตรียมจัด “แพ็ค พริ้นท์อินเตอร์เนชั่นแนล” งานแสดงเทคโนโลยี นวัตกรรมด้านการบรรจุภัณฑ์และการพิมพ์ จากกว่า 300 บริษัท 25 ประเทศชั้นนำทั่วโลก เช่น เยอรมัน ญี่ปุ่น จีน เป็นต้น ครั้งที่ 7 ระหว่างวันที่ 18 – 21 กันยายน 2562 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา

นายมานิตย์ กล่าวต่อว่า อุตสาหกรรมการบรรจุภัณฑ์มีกำลังการผลิตในประเทศสูงถึง 5.83 ล้านตันในปีที่ผ่านมา โดยแบ่งสัดส่วนวัสดุการผลิตจากกระดาษ ร้อยละ 37.74 แก้ว ร้อยละ 30.05 พลาสติก ร้อยละ 24.34 และโลหะ ร้อยละ 7.87 และคาดว่าสิ้นปี 2562 จะยังคงมีแนวโน้มการเติบโตที่ดี จากนโยบายกระตุ้นการลงทุนจากทางภาครัฐ

​คุณมานิตย์ กล่าวเพิ่มว่า ด้านนโยบายภาครัฐที่ต้องการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิต ทำให้ภาคธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ยังเป็นปัจจัยหนุนอุตสาหกรรมการบรรจุภัณฑ์ เนื่องจากประเทศไทยสามารถเข้าถึงวัตถุดิบการผลิตได้ง่าย และผลิตภัณฑ์เป็นที่ต้องการของตลาดส่งออก ขณะที่การพัฒนาเทคโนโลยีการบรรจุภัณฑ์เพื่อการถนอมคุณภาพ ยืดอายุการเก็บรักษาของอาหาร ควบคู่นโยบายภาครัฐในเรื่องมาตรฐานบรรจุภัณฑ์และฉลาก ทำให้ผลิตภัณฑ์ต้นน้ำจากในประเทศ มีคุณภาพมตราฐานระดับสากล และมีความสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้

​อย่างไรก็ดี นวัตกรรม และเทคโนโลยีสมัยใหม่ จะเป็นข้อท้าทายหนึ่งที่สร้างการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมการบรรจุภัณฑ์ไทย โดยคาดว่าในช่วงทศวรรษข้างหน้า อุตสาหกรรมการบรรจุภัณฑ์จะมีการพัฒนาครั้งใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอิทธิพลจากเทคโนโลยีการพิมพ์ดิจิทัล ดังนั้น ผู้ประกอบการรายย่อย และผู้ผลิตในประเทศ ควรปรับทิศทางธุรกิจให้เท่าทันสถานการณ์ตลาดการพิมพ์และการบรรจุภัณฑ์ดิจิทัล เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ผลิตภัณฑ์ที่น่าดึงดูด ประหยัดต้นทุน สร้างความยั่งยืนในตลาดที่มีการแข่งขันในระดับสูงยิ่งขึ้นไปอีก คุณมานิตย์ กล่าวทิ้งท้าย

ด้าน คุณพงศ์ธีระ พัฒนพีระเดช นายกสมาคมการพิมพ์ไทย เผยว่า มูลค่าอุตสาหกรรมการพิมพ์ในประเทศปัจจุบันมีมูลค่าสูงกว่า 3.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์กระดาษเพียงอย่างเดียวสร้างมูลค่าสูงถึง 5.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ และยังมีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากนักลงทุนยังให้ความสนใจประเทศไทยในฐานะศูนย์กลางการผลิตที่รายล้อมด้วยประชาคมอาเซียน ที่มีจำนวนผู้บริโภคสูงกว่า 600 ล้านคน

​อุตสาหกรรมการพิมพ์ไทย คาดว่าจะได้รับอานิสงค์จากความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์ทั้งในและต่างประเทศที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ใน 3 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจเวชภัณฑ์และเครื่องสำอาง และธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ที่ยังมีการขยายตัวต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบัน ประเทศไทยมีกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมที่พร้อมต่อการผลิตรับดีมานด์ดังกล่าว เช่น นิคมอุตสาหกรรมสินสาครบนพื้นที่กว่า 900 ไร่ ซึ่งประกอบด้วยโรงงานผลิตในทุกช่วงห่วงโซ่อุตสาหกรรมการพิมพ์และการบรรจุภัณฑ์ ที่มีศักยภาพในการผลิตได้แบบครบวงจร และสามารถลดต้นทุนการผลิตได้ไปพร้อมกัน ส่งผลให้โรงงานผู้ผลิตในไทยสามารถผลิตสินค้าที่หลากหลาย ได้คุณภาพมาตรฐานอุตสาหกรรม ในราคาที่สามารถแข่งขันในตลาดโลก

เมื่อพูดถึงโอกาสการเติบโต และการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมการพิมพ์ และกระดาษในประเทศ สมาคมการพิมพ์สนับสนุนให้โรงงานและผู้ประกอบการตอบรับเทรนด์การผลิตที่น่าสนใจ อย่าง การผลิตคุณภาพสูง การพิมพ์ไฮไฟ (High-fidelity) การพิมพ์ลูกผสมบนหลากหลายวัสดุ (Hybrid) ระบบการสั่งการอัตโนมัติ และโรงงานอัจฉริยะ เพื่อตอบสนองแนวคิด “แพคเกจจิ้ง 4.0” รวมถึงปรับใช้การพิมพ์ดิจิทัล และกระบวนการผลิตที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม

อย่างไรก็ดี ประเทศไทยเองยังมีปัจจัยกระตุ้นการลงทุนจากภายนอกเพื่อให้ประเทศเป็นศูนย์กลางการผลิตที่สำคัญ ทั้งการเป็นประเทศที่สามารถผลิตเยื่อกระดาษ และกระดาษได้ในประมาณมาก การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในนิคมอุตสาหกรรมสินสาคร ความพร้อมด้านแรงงาน ร่วมไปกับนโยบายสนับสนุนจากทางภาครัฐ อาทิ มาตรการจูงใจทางภาษีอากร และสิทธิประโยชน์ที่ไม่ใช่ภาษีอากร สำหรับโครงการที่ตรงตามวัตถุประสงค์การพัฒนาประเทศ โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เป็นต้น

ด้าน​คุณเบียทริซ เจ โฮ ผู้อำนวยการโครงการ “แพ็ค พริ้นท์อินเตอร์เนชั่นแนล 2019” เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ เอเชีย (เอ็มดีเอ) กล่าวว่า การพิมพ์และการบรรจุภัณฑ์ได้รับการประยุกต์ใช้ในหลากหลายอุตสาหกรรม และยังคงเป็นตลาดที่สร้างมูลค่าทางอุตสาหกรรมได้อย่างมหาศาล ในขณะที่มีการเปลี่ยนแปลงและความเคลื่อนไหวด้านเทคโนโลยี ดังกล่าว ทั่วโลก 3 ปัจจัยระดับมหภาคที่สำคัญ ซึ่งช่วยสนับสนุนสถานการณ์อุตสาหกรรม ดังกล่าว ได้แก่

การขยายตัวของดิจิทัลแพคเกจจิ้งหนุนการเติบโตอุตสาหกรรมการพิมพ์ รายงานอนาคตของเทคโนโลยีการพิมพ์ดิจิทัลสำหรับบรรจุภัณฑ์ถึงปี 2565 ของบริษัท สมิธเธอร์ส ไพร่า (Smithers Pira) บริษัทชั้นนำของโลกด้านการพิมพ์พบว่าตลาดบรรจุภัณฑ์ดิจิตอล ทั้งด้วยการพิมพ์อิงค์เจ็ทและโทนเนอร์ ที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว มีตัวเลขคาดการณ์อัตราการเติบโตสูงถึง 13% ต่อปี หรือมีมูลค่าสูงถึง 2.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 7.01 แสนล้านบาทไทย ภายในปี 2565 โดยกลุ่มวัสดุที่มีแนวโน้มเติบโตสูงได้แก่กระดาษลูกฟูก กล่องกระดาษ บรรจุภัณฑ์อ่อนตัว บรรจุภัณฑ์ชนิด Direct-to-Shape และการพิมพ์โลหะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการพิมพ์ดิจิทัลกำลังเข้ามามีบทบาทมากขึ้น และทำให้ผู้ประกอบการสามารถสร้างกระแสรายได้ใหม่ๆ จากการใช้เทคโนโลยีตอบสนองความต้องการด้านอารมณ์ของผู้บริโภค

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากแถลงข่าวเสร็จแล้ว นายมานิตย์ยังได้พาสำรวจเบื้องหลังการผลิตบรรจุภัณฑ์หรือแพ็กเกจจิ้ง ด้วยเครื่องE-Spector ซึ่งเป็นเครื่องช่วยตรวจเช็คความสะอาด ความถูกต้องของบรรจุภัณฑ์ และเทคโนโลยีการขึ้นรูปของบรรจุภัณฑ์ รวมถึงเครื่องปั๊มดีไซน์แพ็กเกจจิ้งระดับอุตสาหกรรม ที่ลดการใช้แรงงานจากคน