เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2562 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานของโครงการท้าทายไทย ที่ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยภายใต้ โครงการพัฒนาพลังงานทดแทนและการประยุกต์ใช้ในชุมชนสีเขียว ซึ่งมี ศ.ดร.ทนงเกียรติ เกียรติศิริโรจน์ แห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะหัวหน้าการวิจัยโครงการท้าทายไทยฯที่มีทั้งหมด 8 โครงการ หรือแผนใหญ่ ซึ่งสามารถนำผลการวิจัยย่อยมาประยุกต์ใช้งานได้จริง โดยเฉพาะโครงการต้นแบบโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนแบบผสมผสาน ขนาด 15 กิโลวัตต์ มาประยุกต์ใช้งานได้จริง
โดยมีกังหันลม ประมาณ 10 กิโลวัตต์ ร่วมกับโซล่าเซลล์ลอยน้ำประมาณ 5 กิโลวัตต์ ในพื้นที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดชัยภูมิ ที่มีนายมนตรี ชาลีเครือ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนำมาใช้ในการประหยัดพลังงานไฟฟ้า ที่สนามกีฬากลางจังหวัดชัยภูมิ เพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้า และระบบบำบัดน้ำเสียด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ หนองปลาเฒ่า จ.ชัยภูมิ ผลิตเพื่อใช้ปั้มน้ำ สูบน้ำให้น้ำมีการไหลเวียน
8DD2D586-808A-4598-BDBE-492FAE7E4CEF
ซึ่งเป็นโครงการวิจัยย่อย 1 ใน 8 โครงการท้าทายไทยโดยมีผศ.ดร.วิรชัย โรยนรินทร์ หัวหน้าศูนย์วิจัยและบริการด้านพลังงาน คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล(มทร.)ธัญบุรี และอาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล ในฐานะ หัวหน้าโครงการต้นแบบโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนแบบผสมผสานระหว่างกังหันลมกับทุ่นลอยน้ำโซล่าเซลล์มาประยุกต์ใช้ได้จริง เพื่อชุมชนสีเชียว
โดยมีผู้ร่วมงานวิจัยประกอบด้วย ผศ.ดร.จักรี ศรีนนท์ฉัตร อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม มทร.ธัญบุรี,ดร.ชานนท์ บุญมีพิพิธ วิทยาลัยพลังงานและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนรัตนโกสินทร์ มทร.รัตนโกสินทร์ สอนด้านเครื่องกล, นายจิติวัฒน์ ยวงเกตุ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาพลังงานทดแทน แบบจำลองการจัดการพลังงาน เช่น ข้อมูลความเร็วลมในพื้นที่ เหมือนเป็นการพยากรณ์การได้ตัวพลังงานเท่าไรในการนำมาใช้จริง และนายทรงพล อ้นทอง บริษัทเอฟ ที เอนเนอร์จี จำกัด ที่ให้การสนับสนุนเรื่องอุปกรณ์ทุ่นลอยน้ำ แผงโซล่าเซลล์ เป็นต้น
ด้านศาสตราจารย์ ดร.ทนงเกียรติ เกียรติศิริโรจน์ แห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หัวหน้าโครงการวิจัยท้าทายไทยฯ กล่าวว่า การดำเนินงานของโครงการที่ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยภายใต้โครงการพัฒนาพลังงานทดแทนและการประยุกต์ใช้ในชุมชนสีเขียว มีทั้งหมด 8 โครงการ ซึ่งสามารถนำผลการวิจัยมาประยุกต์ใช้งานได้จริง โดยเฉพาะโครงการต้นแบบโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนแบบผสมผสาน ขนาด 15 กิโลวัตต์ต้นแบบสามารถประยุกต์ใช้งานได้จริงเพื่อชุมชนสีเขียว เป็นการดำเนินงานของศูนย์วิจัยและบริการด้านพลังงาน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี โดย ผศ.ดร.วิรชัย โรยนรินทร์ และคณะ โดยใช้พื้นที่สนามกีฬากลาง จังหวัดชัยภูมิที่อยู่ภายใต้การดูแลขององค์การบริหารส่วนจังหวัดชัยภูมิ ซึ่งมีการออกกำลังกายและเป็นที่พักผ่อนของประชาชน ด้วยการนำพลังงานลมและแสงอาทิตย์มาผลิตไฟฟ้าร่วมกัน
การทำงานของระบบจะช่วยประหยัดไฟฟ้าให้กับพื้นที่ไม่น้อยกว่าวันละประมาณ 100 หน่วยไฟฟ้าต่อวัน คิดเป็นมูลค่าการลดค่าใช้จ่ายกระแสไฟฟ้าปีละประมาณสองแสนกว่าบาท สามารถเพิ่มเวลาในการออกกำลังกายให้ประชาชนในพื้นที่ได้มากขึ้น และใช้เป็นพื้นที่ต้นแบบของชุมชนสีเขียวในการสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อมและให้ความสำคัญในการช่วยกันประหยัดพลังงาน หันมาส่งเสริมการใช้พลังงานจากธรรมชาติกันมากขึ้น ทำให้ลดปัญหามลพิษทางอากาศและก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นสาเหตุหลักในการเกิดภาวะโลกร้อน
ขณะด้านศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ซึ่งติดภาระกิจต่างประเทศได้ให้สัมภาษณ์ว่า รัฐบาลได้มีนโยบายรณรงค์ให้มีการค้นคว้า วิจัย รวมทั้งมาตรการประหยัดพลังงานอย่างเป็นรูปธรรม และมีการสนับสนุนให้ใช้พลังงานทดแทนต่าง ๆ ให้แพร่หลายยิ่งขึ้นจนเป็นวาระแห่งชาติ เพราะพลังงานทดแทนมีส่วนช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ลดการพึ่งพาจากต่างประเทศ โดยเฉพาะกระแสไฟฟ้าจึงมีความสำคัญและถือเป็นความต้องการพื้นฐานของประชาชน อย่างไรก็ตามการใช้พลังงานทดแทนในปัจจุบันยังคงมีปัญหาต่างๆ อีกมาก
วช. ในฐานะหน่วยงานสนับสนุนทุนเพื่อการวิจัยและนวัตกรรม ตามการปฏิรูประบบวิจัยและนวัตกรรมของรัฐบาล ตระหนักถึงความสำคัญของการใช้พลังงานทดแทน จึงได้ให้ทุนกิจกรรมส่งเสริมสนับสนุนการวิจัยที่มุ่งเป้าตอบสนองความต้องการในการพัฒนาประเทศ ปีงบประมาณ 2559 ภายใต้แผนงานวิจัยตอบสนองนโยบายรัฐบาล กลุ่มเรื่องพลังงานทดแทน (โครงการท้าทายไทย) กิจกรรมส่งเสริมสนับสนุนการวิจัย เรื่อง “การพัฒนาพลังงานทดแทนและการประยุกต์ใช้ในชุมชนสีเขียว”แก่ศาสตราจารย์ ดร.ทนงเกียรติ เกียรติศิริโรจน์ แห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคณะ เพื่อศึกษาวิจัยและนำองค์ความรู้ และเทคโนโลยีจากผลการวิจัยด้านพลังงานไปใช้ในชุมชน ลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน และใช้พลังงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อพัฒนาชุมชนให้เป็นชุมชนสีเขียว