เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2562 ผศ.ดร.วิเชฎฐ์ คนซื่อ ผู้อำนวยการ ศูนย์เครือข่ายการเรียนรู้เพื่อภูมิภาค จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีพื้นที่ปฎิบัติงาน 4 แห่ง ได้แก่ 1.พื้นที่อำนวยการส่วนกลาง ตั้งอยู่ จุฬาฯ 2.สถานีวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยี ผาสิงห์ อ.เมือง จ.น่าน 3.สถานีวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีไหล่น่าน อ.เวียงสา จ.น่าน และ4.โครงการพัฒนาที่ดอนจุฬาฯ จ.สระบุรี กล่าวรายงานการ
จัดโครงการรักษ์น่าน สานสร้างป่า ปีที่ 2 ระหว่างวันที่ 26 – 27 กรกฎาคม 2562 เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณฯ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2562 พร้อมด้วย คณาจารย์ บุคลากร และนิสิตจุฬาฯ ร่วมสร้างประโยชน์เพื่อสาธารณะด้วยการปลูกป่าเพิ่มพื้นที่ สีเขียวให้จังหวัดน่าน รวมทั้งฟื้นฟูป่าถูกทำลาย ณ พื้นที่ปลูกป่าบ้านน้ำคา ตำบลพญาแก้ว อำเภอเชียงกลาง จังหวัดน่าน ซึ่งเป็นพื้นที่ของวัดพระธาตุแช่แห้ง ทำการปลูกต้นกล้าไม้ จำนวน 10,000 ต้น ประกอบด้วย ยางนา ตะเคียน ต้นหว้า บนพื้นที่ 100 ไร่
โดยมีนายธวัช จรัสวรภัทร นายอำเภอเชียงกลาง เป็นประธานเปิดโครงการรักษ์น่าน สานสร้างป่าปี2 และร่วมปลูกป่าด้วย
ในการปลูกป่า “โครงการรักษ์น่าน สานสร้างป่า ปีที่ 2” ได้นำวิธีการปลูกป่าด้วยเทคโนโลยี 3 ประสาน ที่จุฬาฯได้มีการศึกษาวิจัยแล้วได้ผล มาใช้ซึ่งเป็นนวัตกรรมของสถานีวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จังหวัดน่าน ประกอบด้วย
1.เชื้อราที่เป็นมิตรกับรากไม้ เชื้อราเอคโตไมคอร์ไรซาจะคอยจับความชื้นในอากาศทำให้รากมีน้ำและช่วยให้รากของพืชสามารถอยู่รอดในสภาวะอากาศที่รุนแรง 2.พอลิเมอร์ชีวภาพ ใช้เป็นตัวเก็บกักความชื้น สำรองน้ำไว้ให้ต้นไม้ในช่วงฤดูแล้งหรือภาวะขาดแคลนน้ำ โดยใส่ในหลุมดินก่อนลงกล้าไม้ หรือผสมในดินที่ใช้ปลูก และ3.การประยุกต์แนวคิดการปลูกป่าแบบอาคิระมิยาวากิ ของ ศ.อาคิระ มิยาวากิ โดยการยกเนินดินขึ้นมา เพื่อให้น้ำและอากาศถ่ายเทได้สะดวก เลือกปลูกพันธุ์ไม้ให้เหมาะสมกับพื้นที่หรือปลูกพันธุ์ไม้ประจำถิ่น รวมไปถึงการปลูกอย่างหนาแน่น คือ 3-5 ต้นต่อตารางเมตร ซึ่งเป็นวิธีที่เหมาะนำมาใช้ในการฟื้นฟูป่าที่ได้ผลอย่างรวดเร็ว
ทั้งนี้ คณาจารย์ บุคลากร และนิสิตจุฬาฯ ที่ร่วมโครงการฯ ได้ไปเยี่ยมชมการดำเนินงานของศูนย์เครือข่ายการเรียนรู้เพื่อภูมิภาค ที่สถานีวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีผาสิงห์ ตำบลผาสิงห์ เช่น การเลี้ยงแพะเนื้อและแพะนม การเลี้ยงสุกรเพื่อให้บริการน้ำเชื้อสุกรเพื่อการผสมเทียม ผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปจากน้ำนมแพะ กิจกรรมเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชและสมุนไพร ชมห้องนิทรรศการพิพิธภัณฑ์สถานธรรมชาติวิทยาแห่งน่าน ฯลฯ
และเยี่ยมชมสถานีวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีไหล่น่าน อำเภอเวียงสา ชมการเพาะกล้าไม้วงศ์ไม้ยาง การเลี้ยงโคแดงพื้นเมืองน่าน และควายน้ำว้าเพื่อการอนุรักษ์ การเตรียมอาหารหมัก การเลี้ยงกบนาแบบอินทรีย์ และการเลี้ยงไส้เดือนดิน นอกจากนี้ยังได้ไปเยี่ยมชมศิลปวัฒนธรรมในจังหวัดน่าน เช่น หมู่บ้านไทลื้อ บ้านร้องแง ตำบลศิลาแลง อำเภอปัว วัดศรีมงคล อำเภอท่าวังผา ฯลฯ