เลขาธิการ สปสช.ดูงานบริการคลินิกหมอครอบครัวหนองสาหร่าย นครราชสีมา เน้นการดูแลสุขภาพเบื้องต้น(ปฐมภูมิ)เป็นรูปธรรม

488

เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2562 นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) พร้อมด้วย นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารีย์ รองเลขาธิการ สปสช. นพ.ชาตรี เจริญชีวะกุล ผอ.สำนักการมีส่วนร่วม สปสช. แพทย์หญิงลลิตยา กองคำ ผอ.สปสช.เขต 9 นครราชสีมา ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานคลินิกหมอครอบครัว(Primary Care Cluster หรือ PCC) ศูนย์สุขภาพชุมชนเทศบาลเมืองปากช่อง 3 (หนองสาหร่าย) 1 ในเครือข่ายของรพ.ปากช่องนานา อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ที่ เน้น  “ดูแลทุกเรื่อง ดูแลต่อเนื่องถึงบ้าน”

โดยมี นพ.มณเฑียร เพ็งสมบัติ ผอ.รพ.ปากช่องนานา  ดร.พญ.รัตนา ยอดอานนท์ รองผอ.รพ.ปากช่องนานา กลุ่มภารกิจด้านบริการปฐมภูมิและแพทย์ประจำ คลินิกหมอครอบครัวหนองสาหร่าย  พร้อมด้วยนางสุมาลัย วรรณกิจไพศาล หัวหน้าคลินิกหมอครอบครัวหนองสาหร่าย นายกังวาน บรรณาภูมิ ประธานสภาเทศบาลเมืองปากช่อง ให้การต้อนรับพร้อมนำคณะลงไปพบปะกับชาวบ้านที่มารอรับบริการ ด้วยการสวดมนต์ นั่งสมาธิ และสนทนาธรรม(ให้ความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ) พร้อมนำสิ่งของสมุนไพรพื้นบ้านมาแนะนำให้ความรู้ และผลไม้ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพได้เห็นและเข้าใจถึงการป้องกันไม่ให้เกิดโรค ก่อนทำการรักษาเพื่อให้ผู้ป่วยมีความรู้เข้าใจในการรักษา และมีจิตใจเบิกบาน โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อรังซึ่งคลินิกหมอครอบครัว หนองสาหร่ายจะนัดมาทุกวันพฤหัสบดีของสัปดาห์ เช่น เบาหวาน ความดัน ตั้งแต่เวลา 08.30-9.00 น. จากนั้นได้แลกเปลี่ยนข้อมูล

โดยนพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า การมาลงพื้นที่ครั้งนี้เพื่อมารับฟังปัญหาอุปสรรคของผู้ให้บริการและผู้รับบริการ เพราะเรื่องการเจ็บไข้ได้ป่วยถือเป็นเรื่องธรรมชาติ รัฐบาลให้ความสำคัญว่าทำอย่างไรที่เรามีระบบบริการด้านสาธารณสุขใหม่ๆเกิดขึ้นในพื้นที่ โดยเฉพาะการรุกเข้าไปในหมู่บ้าน ใกล้ชิดกับชาวบ้านมากขึ้น ด้วยมิติการให้บริการด้านสุขภาวะที่ดีในเรื่องการส่งเสริมสุขภาพทางใจ ไม่เฉพาะเรื่องของการรักษาทางกายเท่านั้น คลินิกหมอครอบครัว หนองสาหร่าย ที่ได้ดำเนินพัฒนางานด้านบริการปฐมภูมิ มาตั้งแต่ปี 2545 และมีแพทย์ประจำบ้านเวชศาสตร์ครอบครัวมาประจำรักษาชาวบ้านในพื้นที่เกือบทุกวัน จนทำให้เห็นเป็นรูปธรรม คือชาวบ้านที่มารับบริการ และเจ้าหน้าที่มีความสุขร่วมกัน

ประกอบกับวันที่ 28 กรกฎาคม 2562 พ.ร.บ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. 2562 จะมีผลบังคับใช้ตามรัฐธรรมนูญพ.ศ.2560  ในฐานะที่สปสช.เป็นผู้จัดสรรงบประมาณให้กับโรงพยาบาลหรือหน่วยบริการด้านสาธารณสุขกับผู้ที่มีบัตรทองหรือบัตรประกันสุขภาพฯเข้ามารักษา การลงพื้นที่ครั้งนี้เพื่อมารับฟังแลกเปลี่ยนข้อมูลในการเตรียมความพร้อมเพื่อนำไปวางแผนกับระบบใหม่ๆที่เกิดขึ้นในอนาคต เพราะต่อไปท้องถิ่นจะมีบทบาทสำคัญในการให้ประชาชนรอบรู้เรื่องสุขภาพและสามารถพึ่งพาตนเองได้ และยังเป็นการตอบสนองความต้องการของชุมชน ซึ่ง สปสช.จะนำไปออกแบบระบบ

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า   จากการเยี่ยมชมที่คลินิกแห่งนี้เปิดให้บริการผู้ป่วยโรคเรื้อรังหรือ NCD ที่เกิดจากพฤติกรรมการดำรงชีวิต ได้แก่  กลุ่มโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โดยใช้หลักวิถีพุทธร่วมรักษาผู้ป่วย ที่ให้ผลทางจิตใจ และนำไปปรับใช้ในขีวิตประจำวัน ได้แก่ 3 ส 3อ และ 1 น  ได้แก่. ส.ที่ 1 สวดมนต์ ก่อนพบแพทย์ ช่วยจิตใจสงบ ลดการเวียนศีรษะ ,ส ที่ 2 นั่งสมาธิ ช่วยใจสงบไม่ฟุ้งซ่าน ,ส ที่ 3 สนทนาธรรม. นำหลักธรรมไปดูแลสุขภาพ. ส่วน 3 อ. คือ. อาหาร งดรับประทานหวาน มัน เค็ม,ออกกำลังกาย ,อารมณ์. ปรับสภาพจิตใจ. ส่วน 1 น. คือ นาฬิกาชีวิต. ฝึกการนอนพักผ่อนให้เพียงพอ การนอนก่อน4 ทุ่ม ช่วยให้ร่างกายย่อยน้ำตาลได้ดี ไม่เสี่ยงป่วยเบาหวาน และตื่น ตี 5 เพื่อให้ปอดแข็งแรง เป็นต้น

เลขาธิการ สปสช. กล่าวต่อว่า ซึ่งหลักการดูแลสุขภาพเหล่านี้ มีที่คลินิกหมอครอบครัวหนองสาหร่าย เน้นการดูแลสุขภาพเบื้องต้นหรือเป็นระบบปฐมภูมิให้คนตระหนักดูแลตนเอง ป้องกันโรค โดยพระราชบัญญัติระบบสุขภาพปฐมภูมิ พศ.2562  ที่เน้นให้ประชาชนรู้จักพึ่งพาตนเอง. รอบรู้การดูแลสุขภาพ  ในช่วงบ่ายตนและคณะจะลงพื้นที่รับฟังการดำเนินงานของหน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียน ตามมาตรา 50(5) อำเภอปักธงชัย จ.นครราชสีมาในการเป็นหน่วยงานประสานหลักประกันสุขภาพของประชาชนและ ร่วมแลกเปลี่ยนการดำเนินงาน สำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงในจังหวัดนครราชสีมา

โดยมี นายอำนวย ปองนาน นายอำเภอปักธงชัย และนางสาว เบญญาภา มะโนธรรม ประธานหน่วยฯมาตรา 50(5)ปักธงชัย  ตัวแทนกลุ่มงานประกัน  นพ.สำเริง แหยงกระโทก ผู้ทรงคุณวุฒิ อนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับเขต(อปสข.) และกลุ่มงานประกัน จากรพ.ปักธงชัย โดยการดำเนินงานรับเรื่องของหน่วยรับเรื่องร้องเรียนเรื่องอื่นที่เป็นอิสระ ตามมาตรา 50(5)ปักธงชัย โดยพบว่า ปี 2562 มีจำนวนผู้ร้องเรียน 36 เรื่อง  เช่น  มาตรฐานการให้บริการสาธารณสุข ,ไม่ได้รับความสะดวกตามสิทธิ,ถูกเรียกเก็บเงินโดยไม่มีสิทธิหรือเรียกเก็บเงินเกินกว่าอัตราที่กำหนด เป็นต้น โดยเป็นหน่วยที่ให้ข้อมูลความรู้ ความเข้าใจเรื่องหลักประกันสุขภาพ ให้คำปรึกษา ประสานแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการใช้บริการผู้รับและผู้ให้บริการ เชื่อมร้อยเครือข่ายประชาชนทั้งในและนอกพื้นที่ อีกทั้งยังเป็นกลไกขับเคลื่อนให้ประชาชนได้เข้าถึงสิทธิเรื่องของสุขภาพด้วย ทั้งหมดนี้จะเป็นข้อมูลนำไปต่อยอดในการวางแผนการดำเนินงานตามพ.ร.บ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิต่อไป