เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2562 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ได้นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ อบต.อุทัยสวรรค์ อ.นากลาง จ.หนองบัวลำภู ต้นแบบการแก้ปัญหาการใช้สารเคมีเพื่อทำการเกษตร อ้อย ข้าวโพดในพื้นที่ ต.อุทัยสวรรค์ จ.หนองบัวลำภู จนเกิดโรคที่มาจากการใช้สารเคมีฉีดพ่น อาทิ โรคเนื้อเน่า หรือโรคติดเชื้อทางผิวหนัง ภายใต้ การใช้ธรรมนูญสุขภาพของชาวบ้านในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจนเข้มแข็ง
นายณัฐวัฒน์ บุญค้ำมา นายอำเภอนากลาง จ.หนองบัวลำภู ในฐานะเป็นประธานในการประชุมธรรมนูญประชาชนคนตำบลอุทัยสวรรค์ โดยมี นายสมศักดิ์ ยุบลพันธ์ สาธารณสุขอำเภอนากลาง นายดนัยโชค บุญโสม นายกอบต.อุทัยสวรรค์ ร่วมพูดคุยและบรรยายสรุปถึง เรื่อง“ธรรมนูญสุขภาพกับการแก้ไขปัญหาสารเคมีในพื้นที่” ซึ่งได้มีการบรรจุเรื่อง “การใช้สารเคมีในไร่อ้อยและหมู่บ้านของเกษตรกร”ไว้ในธรรมนูญสุขภาพนี้ด้วย ทั้งนี้เพื่อเป็น กฎ กติกา ข้อบังคับที่ชุมชนร่วมกันวางไว้ เพื่อสร้างสุขภาพที่ดี สร้างความมั่นคงใหักับชีวิต ทรัพย์สิน และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติของชุมชนให้ยั่งยืน หลังมีการประกาศใช้โดยเชื่อมโยงกับแผนงานกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ ร่วมทั้งมีการติดตามประเมินผล
นายดนัยโชค นายกอบต.อุทัยสวรรค์ เล่าว่า พื้นที่แห่งนี้ส่วนใหญ่เป็นดินร่วนปนทราย ดินลูกรังและเป็นที่ราบสูง ในพื้นที่ตำบลอุทัยสวรรค์ มีป่าสาธารณะ.บ๊ะออนซอน ประชากรส่วนใหญ่ทำไร่อ้อยกันจำนวนมากและมีรายได้ดีกว่าทำนา และส่งผลให้มีการใช้สารเคมีฉีดในไร่ จำนวนมาก ประกอบกับไร่อ้อยนั้น อยู่ติดกับบ้านเรือนของชาวชุมชน ทำให้ชาวบ้านได้รับสารเคมี ส่งผลต่อสุขภาพ เกิดการเจ็บป่วย เป็นโรคติดเชื้อทางผิวหนัง เซลล์ผิวหนังอักเสบ และโรคหนังเน่า
ดังนั้นตนจึงได้นำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่สภาองค์การบริหารส่วนตำบลอุทัยสวรรค์เพื่อพิจารณาออกกฎกติกาต่างๆตามที่ทำบันทึกข้อตกลงกันไว้เมื่อเดือนสิงหาคม 2557 ให้มีมาตรการร่วมกันเพื่อเป็นกฏข้อบังคับของหมู่บนตำบล ถือปฏิบัติไปในทางเดียวกัน 4 ข้อ คือ
1. มาตรการกำหนดขอบเขตระยะห่างในการใช้สารเคมีให้ห่างจากหมู่บ้านไม่น้อยกว่า 100 เมตร. 2.มาตรการในการแจ้งเตือน ให้แจ้งผู้ใหญ่บ้านก่อนทำการฉีดพ่นสารเคมีอย่างน้อย 3 วัน
3. เมื่อฉีดพ่นสารเคมีแล้วให้ทำป้ายปิดประกาศไว้ให้ประชาชนทราบด้วย และ4.เรื่องป้ายทางโรงเรียนในหมู่บ้านจะรับผิดชอบให้ทุกหมู่บ้านนำมาตรการทั้ง 4 ข้อนี้ไปใช้
“การใช้สารเคมีในไร่อ้อยที่อบต.อุทัยสวรรค์ ตอนนี้ถือว่าลดลงเป็นที่น่าพอใจ เพราะมีการใช้ กฎกติกา ธรรมนูญสุขภาพ “นายกอบต.อุทัยสวรรค์กล่าว
นายดนัยโชค กล่าวว่า จากการที่จัดทำธรรมนูญสุขภาพของประชาชนตำบลอุทัยสวรรค์ซึ่งได้รับความร่วมมือจากภาคี ต่างๆ ดำเนินการภายใต้กองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ มีการบูรณาการระหว่างธรรมนูญเกิดความคล่องตัวกับกองทุนหลักประกันสุขภาพอย่างยั่งยืน. และวางแผนและแก้ไขปัญหาของที่นี่เป็นหนึ่งในมาตรการป้องกันที่องค์การบริหารส่วนตำบลอุทัยสวรรค์จัดทำขึ้น โดยใช้เงินจากกองทุนสุขภาพตำบล เป็นกลไกขับเคลื่อนในการป้องกันนอกจากการวางกติกาการใช้สารเคมีกับชาวไร่ในพื้นที่ ซึ่งมาตรการดังกล่าวได้รับการตอบรับจากชาวชุมชนเป็นอย่างดี ช่วยลดปัญหาการปนเปื้อนของสารเคมีในสิ่งแวดล้อมทั้งในแปลงเกษตรและบ่อน้ำตื้น ที่ชาวบ้านเคยต้องเผชิญปัญหา นำมาซึ่งการเจ็บป่วย โดยเฉพาะอาการวิงเวียนศรีษะโดยไม่ทราบสาเหตุ
ด้านนพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวว่า การดูแลสุขภาพเพื่อให้ประชาชนตระหนักเรื่องสุขภาพ ป้องกันโรค ที่อบต.อุทัยสวรรค์ เป็นตัวอย่างที่ดี น่าชื่นชม ที่มีการใช้ กรอบ กติกา ข้อบังคับ ที่ประชาชนมีส่วนร่วมกำหนดข้อเสนอที่ดี ทำให้ชุมชนได้เรียนรู้และก่อให้เกิดความสุขในชุมชนได้ ภายใต้ธรรมนูญสุขภาพ และท้องถิ่น(อปท.)สามารถใช้เงินกองทุนสุขภาพตำบลจัดทำได้ และวิธีการที่ อบต.อุทัยสวรรค์ ร่วมกันจัดทำ ถือว่าเป็นการป้องกัน เป็นการเดินเข้าสู่กระบวนการสุขภาพอย่างถูกต้อง ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการเจ็บป่วยในชาวชุมชนได้มาก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้นได้เข้าไปดูไร่อ้อยที่มีการปักป้ายติดว่าเป็นเขตอันตราย(คือมีการฉีดพ่นยาฆ่าวัชพืชในไร่อ้อย ) บางพื้นที่ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ที่ปลอดจากสารเคมี โดยจะเป็นกระบวนการแบบผสมผสาน มีหน่วยอนามัยเข้าไปตรวจสุขภาพคัดกรองโรค เจาะเลือดประชาชนในหมู่บ้านเดือนละครั้ง เนื่องจาก อบต.อุทัยสวรรค์นั้นมีปัญหาสุขภาพ จนสามารถแก้ปัญหาและเป็นต้นแบบไข้เลือดออกและอุบัติเหตุ