สปสช.ลงพื้นที่ดูต้นแบบ “วิธีการดูแลผู้สูงอายุในเขตเมืองอุตสาหกรรม อบต.คานหาม อยุธยา”ใช้หลักทำงานร่วมกันใกล้ชิด การเมือง ข้าราชการประจำ และเอกชน”

752

เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2562 ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) เป็นประธานเปิด งานมหกรรมสุขภาพ  “คืนความสดใส ใส่ใจคุณภาพชีวิตสูงวัย  ในเขตเมืองอุตสาหกรรม”(นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ) ภายใต้กองทุนหลักประกันสุขภาพ ระดับท้องถิ่น หรือพื้นที่  โดยมี นายประพันธ์ ตรีบุบผา นายอำเภออุทัย จ.พระนครศรีอยุธยากล่าวรายงาน  จากนั้นคณะเยี่ยมชมบู๊ทกิจกรรมจากผู้สูงอายุและภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ซึ่งมี นายเกื้อกูล ด่านชัยวิจิตร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายสุระศักดิ์ พันธุ์เจริญวรกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พร้อมด้วย  นายบุญชอบ. สะสมทรัพย์ สาธารณสุขอำเภออุทัย  จ.พระนครศรีอยุธยา  นายปรีชา ทองชาติ ปลัดอบต.คานหาม จัดงานร่วมกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ บริเวณ ศูนย์สุขภาพชุมชน หมู่ที่ 4 ตำบลคานหาม

ภายในงานมีกิจกรรมรำวงย้อนยุคโดยชมรมผู้สูงอายุ ร่วมกับคณะผู้บริหาร และพนักงานบริษัท อีกทั้งยังมีนิทรรศการและบูทนิทรรศการสูงวัยคุณภาพ ประกอบด้วย กิจกรรมชมรมผู้สูงอายุ กิจกรรมโรงเรียนผู้สูงอายุ อาทิ การทำสบู่ การสานตะกร้า การทำน้ำยาล้างจาน การทำยาม่อง นิทรรศการแพทย์แผนไทย การพอกเข่า แช่เท้า รวมทั้งนิทรรศการการมีส่วนร่วมของโรงงานอุตสาหกรรม ประกอบด้วย ไทยซัมมิท ออโตบอดี อินดัสตรี ,บริษัทเอฟแอนด์เอ็น แดรี่ส์(ประเทศไทย) จำกัด ,บริษัทเวล แพค อินโนเวชั่น จำกัด ,บริษัท เอฟเทคเอ็มเอฟจี (ไทยแลนด์) จำกัด ,บริษัท เอ็นเอ็มบีมินิแบร์ ไทย จำกัด

นายประพันธ์ ตรีบุบผา นายอำเภออุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า ตำบลคานหาม เป็น  1ใน 11 ตำบลของอำเภออุทัย  จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  มีหมู่บ้านจำนวน 9 หมู่บ้าน  มีสวนอุตสาหกรรมโรจนะ ตั้งอยู่ในพื้นที่ โดยในสวนอุตสาหกรรม มีโรงงานอุตสาหกรรมมากกว่า 100 แห่ง ซึ่งทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้างในโรงงานต่างๆ  ตำบลคานหาม  มีประชากรจำนวน 7,797 คน และมีประชากรแฝงเป็นจำนวนมาก   มีผู้สูงอายุทั้งหมด จำนวน 1,061 คนคิดเป็น ร้อยละ 13.61 แยกเป็นผู้สูงอายุกลุ่มติดสังคม 1,028 คน คิดเป็นร้อยละ 96.89 ผู้สูงอายุกลุ่มติดบ้าน จำนวน 24 คน  คิดเป็นร้อยละ 2.26 ผู้สูงอายุกลุ่มติดเตียง จำนวน 9 คน คิดเป็นร้อยละ 0.85    

อย่างไรก็ตาม ปัญหาโรคที่พบในผู้สูงอายุ 5 อันดับแรก   เป็นโรคความดันสูง 900  คน โรคเบาหวานและความดัน 400 คน  โรคเบาหวาน(อย่างเดียว) กว่า 100 คน ในอนาคต จะมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น จนกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุ  จึงมีความจำเป็นที่ต้องมีภาคีเครือข่ายต่างๆ ทั้งภาครัฐ  ภาคเอกชน  เข้ามามีบทบาทในการดูแลผู้สูงอายุ ในพื้นที่นิคมฯ ทั้งนี้ อบต.คานหามได้รับงบสนับสนุนจากกองทุนหลักประกันสุขระดับดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ในการจัดกิจกรรมให้ผู้สูงอายุในครั้งนี้

ขณะที่ ทพ.อรรถพร รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้เพื่อมาดูวิธีการในการดูแลผู้สูงอายุใน อบต.คานหาม พื้นที่แห่งนี้จะพิเศษกว่าทุกครั้งเพราะเป็นชุมชนในเขตกึ่งชนบท กึ่งเมือง และมีโรงงานอุตสาหกรรมค่อนข้างมาก อย่างที่สปสช.จะเน้นทุกครั้งคือการป้องกันโรค ขณะนี้ประเทศไทยเราก้าวไปสู่สังคมผู้สูงอายุจึงมีกองทุน 2 กองทุนที่เรียกง่ายๆคือ  กองทุนตำบล ที่สปสช.ดูแลมาร่วมกับกองทุนผู้สูงอายุ

กองทุนตำบล เราดูแลเรื่องการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคโดยจะเอาเรื่องของสุขภาพคนในพื้นที่เป็นตัวตรง การทำงานดูแลผู้สูงอายุแห่งนี้จะใช้เงินกองทุนตำบล และที่พิเศษออกไปคือการทำงานมีการบูรณาการกันอย่างใกล้ชิดในภาคส่วน การเมือง ข้าราชการประจำ เช่น ส.ส.,นายอำเภอ ,โรงพยาบาล ,สาธารณสุขอำเภอ(สสอ.) เป็นต้น มาร่วมกันดูแลประชาชนถึงที่ และยังได้รับการสนับสนุนส่วนหนึ่งจากภาคเอกชนในการทำให้มีการดูแลที่ครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการส่งเสริมป้องกันโรค การจัดกิจกรรมให้ผู้สูงอายุได้มาพบปะกัน มีการจัดตั้งโรงเรียนผู้สูงอายุ มีการจัดกิจกรรมให้ผู้สูงอายุมีการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หากเป็นผู้สูงอายุที่ป่วยจะใช้งบกองทุนผู้สูงอายุ และเอกชนเข้ามาช่วยสนับสนุนที่ยังขาดเหลือ ทำให้เห็นภาพของการดูแลทุกภาคส่วนในการดูแลผู้สูงอายุแห่งนี้มีสุขภาพค่อนข้างดี สำหรับโรคที่พบบ่อยในพื้นที่คือ โรคไม่ติดต่อเรื้อรังคล้ายๆที่อื่น แต่ที่แตกต่างจากที่อื่นคือ การที่ทุกภาคส่วนเข้ามาดูแลผู้สูงอายุอย่างครบวงจร

ทพ.อรรถพร กล่าวต่อว่า การดูแลผู้สูงอายุในเขตอุตสาหกรรมในพื้นที่แห่งนี้มีทั้งเกษตรกรรม และอุตสาหกรรม สิ่งที่เราพบคือ ปัญหาโรคที่เกิดจากอุตสาหกรรมไม่ค่อยมีเพราะเขาจัดการได้ค่อนข้างดี และไม่ค่อยพบปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมแต่อย่างใด เพราะภาคอุตสาหกรรมเขาจะทำงานอุตสาหกรรมได้ก็ต้องอาศัยแรงงานจากคนในพื้นที่ เขาถึงมีการเอางบประมาณมาสนับสนุน มีการจัดกิจกรรมต่างๆร่วมกับภาครัฐ ซึ่งทำให้เห็นว่าเป็นจุดเด่น เพราะสังคมจะไปได้ทุกคนต้องมีส่วนร่วมไม่ใช่เป็นหน้าที่ของภาครัฐแต่อย่างเดียว และเห็นความตื่นตัวกับเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องซึ่งเป็นตัวอย่างที่ควรจะขยายให้พื้นที่ต่างๆต่อไป

จากนั้น ลงเยี่ยมบ้านนายวสันต์ สุขสนอง อายุ  64 ปี ผู้ป่วยโรคไต ที่สามารถล้างไตได้ที่บ้านโดยไม่ต้องไปล้างที่โรงพยาบาล ล้างไตมาแล้ว  3 ปี ที่อสม.ในชุมชนมีส่วนเข้ามาดูแลตลอด ขณะนี้มีสุขภาพดีขึ้นมาก