สปสช.ลงพื้นที่ดู “ลวงเหนือโมเดล” ต้นแบบการช่วยผู้จมน้ำอย่างครบวงจรที่ชุมชนทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม

269

เมื่อวันที่ 6 กันยายน 256  นพ.การุณย์ คุณติรานนท์ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) พร้อมด้วย  นพ.บุญเติม ตันสุรัตน์ ที่ปรึกษา สปสช.เขต1เชียงใหม่ ลงพื้นที่เพื่อดูต้นแบบ นวัตกรรม “ลวงเหนือโมเดล” เทศบาลตำบลลวงเหนือ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่  ต้นแบบการดูแลเด็กจมน้ำในพื้นที่ ภายใต้กองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่น หรือพื้นที่  เพื่อฝึกเด็กและเยาวชนให้ช่วยเหลือตนเอง ผู้อื่นได้เมื่อเกิดเหตุหรือเจอคนจมน้ำในพื้นที่ ที่มีความเข้มแข็ง โดยเฉพาะการขับเคลื่อนการดำเนินงานของท้องถิ่นในการบูรณาการหน่วยงานต่างๆในท้องถิ่นให้มีส่วนร่วมและร่วมด้วยช่วยกันป้องกันเด็กจมน้ำ เนื่องจากใกล้เขื่อนแม่กวงอุดมธารา จ.เชียงใหม่

โดยมีนายดวงแก้ว สะอาดล้วน นายกเทศมนตรี ตำบลลวงเหนือ  นายวิรัตน์ บุญเรืองยา รองนายกเทศมนตรี ตำบลลวงเหนือ  และประธานเครือข่ายคุ้มครองเด็กตำบลลวงเหนือ  นายเจษฎา คมขัน ปลัดเทศบาลตำบลลวงเหนือ และนางสาวสายสุดา สอนศิริ หัวหน้ากลุ่มพัฒนาชุมชน  พร้อมด้วย กำนัน ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ นำเสนอข้อมูล “แนวทางการขับเคลื่อนการดำเนินงาน ทีมผู้ก่อการดีป้องกันเด็กจมน้ำในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)ต้นแบบ”ลวงเหนือโมเดล”  ณ ที่ทำการเทศบาลตำบลลวงเหนือ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่

จากนั้นได้เดินทางไปยังแม่น้ำที่เป็น จุดปล่อยน้ำจากเขื่อนแม่กวงอุดมธาราเพื่อเข้าไปในพื้นที่ต่างๆ รวมถึงการฝีกเด็กเยาวชนให้ช่วยเหลือตนเองและผู้อื่นในสระว่ายน้ำ ด้วยการใช้อุปกรณ์ หรือนวัตกรรมง่ายๆในการช่วยชีวิตคนจมน้ำ เช่น ถังแกลลอนพลาสติกเปล่า ขวดพลาสติก เชือก ลูกมะพร้าวแห้งเพื่อใช้ในการพยุงตัวผู้จมน้ำ การให้ความรู้เรื่องต่างๆกับเด็กและเยาวชน พร้อมมีป้ายเตือนและอุปกรณ์ในการช่วยผู้จมน้ำในแม่น้ำ บ่อน้ำ ฝายตามจุดต่างๆ ซึ่งในการช่วยคนจมน้ำใช้มาตรการที่เรียกว่า “ตะโกน โย ยื่น” คือ การตะโกน เรียกผู้ใหญ่มาช่วย   โยนอุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัวให้ผู้ตกน้ำเกาะจับพยุงตัว  ยื่นอุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัวให้คนตกน้ำจับ และหานำขึ้นมาจากน้ำแล้วไม่หายใจก็ต้องรียบทำการช่วยพื้นคืนชีพ โดยเป่าปาก และกดหน้าอก เป็นต้น

นายแพทย์การุณย์ กล่าวว่า การดำเนินการโครงการช่วยเหลือหรือฝึกเยาวชนให้มีความรู้ในการช่วยเหลือผู้ที่ตกน้ำหรือจมน้ำเป็นโครงการที่ใช้งบกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่นหรือพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพและการดำเนินโครงการครั้งนี้ของเทศบาลตำบลลวงเหนือ นับว่าบรรลุเป้าหมายเพราะว่าเป็นการบูรณาการการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของทุกหน่วยงานในพื้นที่  ทั้งกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย และสำนักงานเขตพื้นที่โรงเรียนระดับประถมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ  และอปท.รวมถึงพลังของชุมชนในพื้นที่ มีการนำอุปกรณ์ที่ทำขึ้นได้เองอย่างง่าย เช่น ขวดน้ำพลาสติก ลูกมะพร้าวแห้ง นำมาผูกติดกันเพื่อช่วยพยุงตัวผู้จมน้ำ เชือก ถุงพลาติกเป็นสี เป็นต้น  ซึ่งในแต่ละพื้นที่มีจุดเด่นแตกต่างกันไปตามบริบทของพื้นที่ การมาลงพื้นที่ เทศบาลตำบลลวงเหนือ เนื่องจากมีความสมบูรณ์และอยากให้โมเดลนี้กระจายไปตามพื้นที่ต่างๆโดยเฉพาะ การป้องกันเด็กจมน้ำ

ด้านนายดวงแก้ว นายกเทศมนตรีลวงเหนือ กล่าวว่า การขับเคลื่อนการดำเนินงานทีมผู้ก่อการดีป้องกันเด็กจมน้ำในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้นแบบ “ลวงเหนือโมเดล เริ่มตั้งแต่ปี  2559 เป็นต้นมา เนื่อง จากการสำรวจข้อมูลการเสียชีวิตจากการจมน้ำของเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ในพื้นที่ตำบลลวงเหนือ อำเภอดอยสะเก็ด  ทั้งนี้ตั้งแต่ปี 2554-2559 มีเหตุการณ์เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ที่จมน้ำมี 2 เหตุการณ์ คือ ในปี 2554 มีเด็กจมน้ำเสียชีวิต  1ราย และในปี 2555 พบเด็กจมน้ำจำนวน 2 ราย และพิการช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ทั้ง 2ราย ส่งผลกระทบต่อครอบครัว คือ ครอบครัวต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในครอบครัวไม่ได้ไปทำงาน ขาดรายได้เพราะต้องดูแลเด็ก และมีภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล

นายดวงแก้ว  กล่าวต่อว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เทศบาลตำบลลวงเหนือ มีความตระหนักถึงความจำเป็นในการสร้างเสริมสุขภาพที่แข็งแรงทางด้านร่างกายและจิตใจ ตลอดจนส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนรู้จักใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ในเด็กและเยาวชน จึงได้จัดทำกิจกรรมเฝ้าระวัง ป้องกันเด็กจมน้ำ โดยในระยะแรกจะเน้นการให้ความรู้แก่ เด็ก และเยาวชน ในสถานศึกษา ทำการประชาสัมพันธ์เสียงตามสายโดยขอความร่วมมือจาก กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็นผู้ประชาสัมพันธ์ และคณะกรรมการเครือข่ายคุ้มครองเด็ก ดำเนินการประชุมหารือเรื่องบริเวณจุดเสี่ยง จุดน้ำลึก พร้อมทั้งทำการติดตั้งป้าย และอุปกรณ์ในการช่วยเหลือ ประสานงานประชาชนในพื้นที่เพื่อร่วมกันเฝ้าระวังเด็กจมน้ำ ประกอบกับนโยบายของกระทรวงมหาดไทย ที่ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีมาตรการในการดูแลความปลอดภัยแหล่งน้ำในพื้นที่ เพื่อป้องกันเด็กจมน้ำ พร้อมทั้งให้สร้างทีมเครือข่ายผู้ก่อการดี ป้องกันการจมน้ำ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยและลดปัจจัยเสี่ยงที่จะนำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุและความสูญเสีย

นอกจากนี้แล้ว ยังให้ความสำคัญต่อการสร้างเครือข่ายผู้ก่อการดีในการป้องกันการจมน้ำในเด็กและเยาวชนตำบลลวงเหนือ โดยมีเครือข่ายคุ้มครองเด็กตำบลลวงเหนือเป็นแกนนำ เพื่อขับเคลื่อนการสร้างความเข้าใจ ทำให้ชุมชนเกิดความตระหนัก เล็งเห็นปัญหาและความสำคัญในการที่จะต้องมีมาตรการในการป้องกันเด็กจมน้ำที่เกิดจากความร่วมมือของภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน โดยเทศบาลตำบลลวงเหนือสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมป้องกันเด็กจมน้ำ ทั้งเรื่องเงินงบประมาณและบุคลากรในการดำเนินงาน โดยอนุมัติใช้งบประมาณสนับสนุนจากเทศบาลตำบลลวงเหนือ และกองทุนหลักประกันสุขภาพตำบลลวงเหนือ ในการดำเนินกิจกรรม ทั้งนี้ รูปแบบเทศบาลตำบลลวงเหนือ ซึ่งเป็นพื้นที่ต้นแบบดำเนินงานทีมผู้ก่อการดีในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและสามารถขยายผลการดำเนินงานสู่พื้นที่อื่นได้ เพื่อขยายผลสู่พื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบนต่อไป.