เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2562 นพ.การุณย์ คุณติรานนท์ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) พร้อมด้วย นพ.บุญเติม ตันสุรัตน์ ที่ปรึกษา สปสช.เขต1เชียงใหม่ ลงพื้นที่ดูกิจกรรม การเรียนการสอนโรงเรียนผู้สูงอายุ ที่วัดน้ำต้อง ม.10 บ้านแม่หอย ต.บ้านหลวง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ที่ทำให้ลดโรคได้ และการรับฟังการนำเสนอข้อมูล นวัตกรรมการป้องกันไข้เลือดออก โดยใช้การปักธงขาวไว้หน้าบ้าน คือ ไม่มีลูกน้ำยุงลาย และ ธงแดง บ้านที่มีลูกน้ำยุงลาย พร้อมมีการปรับเงิน 200 บาท ซึ่งเป็นมติประชาคมของหมู่บ้านหัวเสือ หมู่ 12 ต.บ้านหลวง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่
โดยมี นายก่อชิ เพชรไพรพนาวัลย์ นายกเทศมนตรี ตำบลบ้านหลวง ,นายธีระศักดิ์ โฆษคุณวุฒิ ปลัดเทศบาล ต.บ้านหลวง และนายดวงจันทร์ สุริยะ ผู้ใหญ่บ้านหมู่12 ต.บ้านหลวง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ รวมถึงนายเอกสิทธิ์ วงศ์ธรหัส เจ้าหน้าที่พนักงานสาธารณสุข รพ.สต. บ้านเมืองกลาง ดูแลรับผิดชอบ 7 หมู่บ้าน ภายในเทศบาลบ้านหลวง ซึ่งมี 4 หมู่บ้านที่นำนวัตกรรมธงขาว ธงแดงมาใช้ แต่ที่บ้านหัวเสือถือเป็นชุมชนที่แข็งแรง มีเจ้าหน้าที่อสม.และอสม.ตัวน้อย ร่วมนำเสนอข้อมูลและพาลงดูนวัตกรรมป้องกันไข้เลือดออกในชุมชน
นพ.การุณย์ กล่าวว่า การลงพื้นที่ติดตามดำเนินงานของกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่นหรือพื้นที่ เทศบาลตำบลบ้านหลวง ที่สปสช.สนับสนุนให้กับทางท้องถิ่น 45 บาทต่อประชากรในพื้นที่ ในเขตเทศบาลบ้านหลวงได้ประมาณ 600,000 กว่าบาท และทางท้องถิ่นคือเทศบาลบ้านหลวงสมทบให้อีก 300,000 กว่าบาท รวมเป็นเงินงบประมาณ เกือบ 1 ล้านบาท การที่ได้ลงมาดูนวัตกรรมสิ่งที่พื้นที่เทศบาลบ้านหลวงทำ โดยช่วงเช้าได้ดูกิจกรรมที่โรงเรียนผู้สูงอายุที่วัดน้ำต้อง ที่ทางเทศบาลบ้านหลวงได้จัดกิจกรรมให้ผู้สูงอายุไม่ติดบ้าน ติดเตียง ทำให้เขามีสังคม ได้ใช้ความคิด ได้ออกกำลังกาย ซึ่งจะช่วยเรื่องของการชะลอการเป็นโรคติดบ้าน ติดเตียง
นพ.การุณย์ กล่าวต่อว่า ส่วนช่วงบ่ายดูเรื่องนวัตกรรมการป้องกันลูกน้ำยุงลายที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคไข้เลือดออก โดยเฉพาะช่วงหน้าฝนจะมีการระบาดของโรคไข้เลือดออก และทางพื้นที่บ้านหัวเสือ ม. 12 ต.บ้านหลวง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ เป็นต้นแบบของการนำนวัตกรรมธงขาว ธงแดงเข้ามาช่วยป้องกันโรคไข้เลือดออก และถ้าบ้านไหน เจ้าหน้าที่ อสม.มีการตรวจพบลูกน้ำ ยุงลาย จะได้ธงแดง แต่ถ้าบ้านไหนตรวจแล้วไม่พบลูกน้ำยุงลายก็จะได้ ธงขาวปักหน้าบ้าน
“เราดูเหมือนกับเรื่องนี้ไม่มีอะไรเลย แต่ในพื้นที่บ้านหัวเสือเห็นความสำคัญและไม่อยากให้หน้าบ้านของตนเองมีการปักธงแดง และในปีนี้ถือประสบความสำเร็จไม่มีคนเป็นไข้เลือดออกจากคนในพื้นที่เลย ส่วนที่เป็นไข้เลือดออกก็จะมีอยู่ประมาณ 4-5 รายที่รับการติดเชื้อมาจากนอกพื้นที่ ผมดูแล้วว่านวัตกรรมอย่างนี้มันเกิดจากการมีส่วนร่วมช่วยกันคิดและลงทำจนเป็นมติประชาคมในหมู่บ้าน ถือว่ามีความเข้มแข็งมาก” นพ.การุณย์ กล่าวและว่า รวมทั้งยังมีเรื่องของการใช้วิธี 3-3-1 หมายถึง 3 ชั่วโมงแรกพื้นที่ต้องรู้และแก้ไข 3 ชั่วโมงถัดไปต้องมีการกำจัดแหล่งยุงลายในรอบรัศมี 100 เมตร จากนั้น 1 วัน ต้องมีการดำเนินการ บิ๊กคลีนนิ่งเดย์(Big Cleaning Day)ทั้งหมู่บ้าน
นพ.การุณย์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังทราบว่า เทศบาลตำบลบ้านหลวง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ได้เข้าร่วมโครงการหลักประกันสุขภาพ กับสปสช.เมื่อปี 2552 และในส่วนของการใช้นวัตกรรมธงขาว ธงแดงมาใช้ปี 2555 โดยมีรพ.สต.บ้านเมืองกลาง ดูแล อีกทั้งยังได้รับรางวัลกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ 10 ปีซ้อน ส่งผลให้ที่นี่เป็นศูนย์เรียนรู้การจัดการองค์ความรู้ 360 องศา และก้าวข้ามปัญหาอุปสรรคของงบประมาณที่ค้างท่อ ได้มาตั้งแต่ปี 2553 ไม่มีปัญหา และสร้างความเป็นเจ้าของร่วมกันของทัองถิ่น ชุมชนได้ “ผมต้องขอชื่นชมนวัตกรรมและศูนย์การเรียนรู้ของเทศบาลตำบลบ้านหลวง ที่ทำให้ประชาชนได้ตระหนักถึงการป้องกันโรคในชุมชนได้ดีมากแห่งหนึ่งของประเทศ”
ด้านนายก่อชิ นายกเทศมนตรีตำบลบ้านหลวง กล่าวว่า การนำนวัตกรรมป้องกันไข้เลือดออกมาใช้ในพื้นที่ คือ การใช้ธงขาว ธงแดง เป็นสัญญลักษณ์ แสดงให้รู้ว่ามีลูกน้ำที่เป็นจุดเริ่มต้นโรคไข้เลือดออกที่มีอยู่ในบ้าน แบ่งเป็นธงขาว หมายถึงไม่มีลูกน้ำยุงลาย ส่วนธงแดงมีลูกน้ำยุงลายและจะต้องดำเนินการแก้ไขทันทีโดยใช้สูตร 3–3-1 หมายถึง 3 ชั่วโมงแรกพื้นที่ต้องรู้และแก้ไข 3 ชั่วโมงถัดไปต้องมีการกำจัดแหล่งยุงลายในรอบรัศมี 100 เมตร จากนั้น 1 วัน ต้องมีการดำเนินการ บิ๊กคลีนนิ่งเดย์ทั้งหมู่บ้าน
การนำนวัตกรรมดังกล่าวมาใช้ในพื้นที่ สามารถป้องกันโรคไข้เลือดออกได้มากขณะเดียวกัน ชุมชน/หมู่บ้านให้ความร่วมมือกันอย่างดี มีการเคารพกติกาของชุมชน ร่วมกันค้นหา ป้องกัน นอกจากนี้เรามีอสม.น้อย ที่จะตามพ่อแม่ของ อสม.ลงพื้นที่ไปตรวจแหล่งลูกน้ำยุงลายในแต่ละบ้าน ซึ่งปัจจุบันไม่พบการแพร่ระบาดในพื้นที่ ได้ขณะเดียวกัน ยังได้นำองค์ความรู้ธงขาว ธงแดงไปเผยแพร่ เกิดการเรียนรู้และเป็นแหล่งศึกษาดูงานให้กับอปท.อื่นจำนวนมาก ซึ่งปัจจุบันมีการนำนวัตกรรมธงขาว ธงแดงในการป้องกันไข้เลือดออกในชุมชนเพิ่มอีก 3 หมู่บ้าน คือ ม.16 บ้านตาดมื่น, ม.13 บ้านน้ำลัด ,ม. 21 บ้านกู่ฮ้อสามัคคี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทั้งนี้ จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบ ว่า สถานการณ์โรคไข้เลือดออกตั้งแต่ 1 มกราคม-27สิงหาคม 2562 มีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกจำนวน 77,757 ราย เสียชีวิต 81 ราย พบผู้ป่วยสูงสุดคืออายุ 5-14ปี รองลงมาคือ 15-34 ปี สำหรับจังหวัดเชียงใหม่ มีประชากร 1.6 ล้านคน ใน 25 อำเภอ มีผู้ป่วยเป็นไข้เลือดออกแล้วถึงเดือนสิงหาคม ปี 2562จำนวน 1,607 ราย โดยอำเภอที่มีผู้ป่วยมากที่สุดตามลำดับ คือ อำเภอฝาง 255 คน และอำเภอจอมทอง 175 คน อำเภอพร้าว 109 คน อำเภอฮอด 87 คน โดย ทั้งจังหวัดเชียงใหม่มีผู้เสียชีวิตจำนวน 4 คน มีอายุ 10-14 ปี จำนวน 1 คนอายุ 35 – 44 ปีจำนวน 2 คนและ อายุ 65 ปีขึ้นไปจำนวน 1 คน

ด้านนายอินคำ เตจ๊ะวันโน อายุ 64 ปี อาชีพทำไร่ทำสวนลำไย ที่เข้าร่วมกิจกรรมโรงเรียนผู้สูงอายุวัดน้ำต้อง เทศบาลตำบลบ้านหลวง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ เล่าว่า ตนเข้าร่วมโครงการโรงเรียนผู้สูงอายุและกิจกรรมเมื่อปี 2562 พร้อมกับภรรยาย อายุ 65 ปี ครอบครัวมีลูกชายเพียง 1 คน แต่เข้ามาเสียชีวิตก่อนเมื่อปี 2557 ขณะทำสวนซึ่งเป็นโรคหัวใจล้มเหลวแบบเฉียบพลัน ปัจจุบันก็ยังทำใจไม่ได้คิดถึงลูกตลอด แต่เมื่อเข้าร่วมโครงการโรงเรียนผู้สูงอายุ มีกิจกรรม ออกกำลังกาย ไหว้พระ สวดมนต์ เข้าห้องฟังวิทยากรบรรยายเรื่องสุขภาพ การกินอาหาร การป้องกัน แถมได้เจอเพื่อนฝูง ทำให้ไม่เครียด ไม่เหงา ซึ่งถือว่าเป็นกิจกรรมที่ดีมากโดยเฉพาะให้กับผู้สูงอายุ ที่เหงาหรือเป็นโรคซึมเศร้า ได้มาเจอเพื่อนฟื้นฟูสภาพจิตใจไปในตัวด้วย