ผอ.สปสช.เขต 6 ระยอง ลงพื้นที่ รพ.ชลบุรี ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานที่ให้ผู้ป่วยรับยาที่ร้านยาคุณภาพนอกรพ.

544

ผอ.สปสช.เขต 6 ระยอง ลงพื้นที่ รพ.ชลบุรี ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานตามนโยบายลดความแออัดใน รพ.ของรัฐ โดยใช้กลไกร้านยาคุณภาพนอกรพ.  มั่นใจพร้อมเดินหน้า “ผู้ป่วยรับยาร้านยาคุณภาพ” พร้อมดูการเชื่อมต่อระบบการจ่ายยา การดูแลผู้ป่วย ลดการรอคอยในโรงพยาบาล

เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2562 นายแพทย์พีระมน นิงสานนท์ ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(ผอ.สปสช.)  เขต 6 ระยอง พร้อมเจ้าหน้าที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) และสื่อมวลชน ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม โรงพยาบาลชลบุรี เพื่อติดตาม “การดำเนินงานตามนโยบายลดความแออัดในโรงพยาบาลของรัฐโดยใช้กลไกการรับยาที่ร้านขายยาคุณภาพจากภายนอก”ของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ         ( สปสช.) ที่เริ่มให้ผู้ป่วยใช้สิทธิ์บัตรทองสมัครใจไปรับยาที่ร้านขายยาใกล้บ้านได้

 อีกทั้งได้ลงเยี่ยมพื้นที่ของคลินิกหมอครอบครัว ศูนย์สุขภาพชุมชนเมือง(ศสม.)ชลบุรี เครือข่ายรพ.ชลบุรีที่ดูแลรักษาผู้ป่วยเรื้อรังระดับปฐมภูมิ  และร้านขายยาเอกชนสมนึกเภสัชที่เข้าร่วมโครงการร้านยาชุมชนอบอุ่น โดยมี นพ.สวรรค์  ขวัญใจพานิชย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชลบุรี  ดร.พญ.สุชาดา อโณทยานนท์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลชลบุรี กลุ่มภารกิจปฐมภูมิ ภก.ชัยรัตน์  ศิริสุนทรลักษณ์ กรรมการสมาคมผู้ประกอบการร้านขายยาจังหวัดชลบุรี   ภญ.ศุภมนันย์  กวินศิริคุณ  นายกสมาคมเภสัชกรจังหวัดชลบุรี   และคณะเจ้าหน้าที่จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชลบุรี ให้การต้อนรับ

ผอ.รพ.ชลบุรี.

นายแพทย์ สวรรค์ ขวัญใจพาณิชย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชลบุรี กล่าวว่า โรงพยาบาลชลบุรีเป็นโรงพยาบาลศูนย์ขนาดใหญ่ รับส่งต่อผู้ป่วยและแต่ละวันมีผู้ป่วยนอกมารอรับบริการสุดถึง 4,000 คนในแผนกอายุรกรรม กลไกการจ่ายยาร้านขายยาเชื่อว่าจะมีส่วนช่วยลดความแออัดได้ โดยหลังเปิดให้ประชาชนร่วมโครงการรับยาร้านขายยา มา 1 เดือน มีประชาชนร่วมรับยาที่ร้านยาคุณภาพใกล้บ้าน 85 คน มีร้านขายยาเข้าร่วมที่ผ่านการประเมิน 4 ร้าน และเพิ่งผ่านการประเมินร้านขายยาคุณภาพเข้าร่วมอีก 17 ร้านจากนี้ไป โดยโครงการรับยาที่ร้านขายยาของรพ.ชลบุรีใช้โมเดลการจ่ายยาแบบ 1 คือทางรพ.จัดยาส่งให้กับร้านขายยาเอง เบื้องต้นผู้ป่วยที่สามารถรับยาที่ร้านยาได้ อยู่ใน 2 กลุ่ม คือ เบาหวาน และความดันโลหิต ต้องมีอาการคงที่ ได้แก่ ผู้ป่วยเบาหวานระดับน้ำตาล ไม่เกิน. 126 มิลลิกรัม/เดซิลิตร  2 ครั้ง  ในการพบแพทย์  ส่วนความดันโลหิตไม่เกิน. 130/80 มิลลิตรปรอท 2 ครั้ง ในการพบแพทย์  โดยเริ่มทดลองมาตั้งแต่วันที่ 9 สิงหาคม 2562 ถึงวันนี้(9ตุลาคม 2562) ครบ 1 เดือนพอดี ที่ผู้ป่วยทั้ง 85 รายเริ่มไปรับยาได้ที่ร้านขายยาภายนอกโรงพยาบาล

ด้านนายแพทย์พีระมน นิงสานนท์ ผอ.สปสช เขต 6. กล่าวว่า การมาลงพื้นที่ครั้งนี้ เนื่องจากสปสช.และกระทรวงสาธารณสุขได้ตอบสนองนโยบายของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้มีนโยบายเพื่อมุ่งลดความแออัดในโรงพยาบาล โดยใช้กลไกร้านขายยาแผนปัจจุบันเป็นกลไกหนึ่งเข้ามาช่วยลดเวลาการรอคอยรับยาในโรงพยาบาล ทั้งช่วยเพิ่มความสะดวกในการรับยาให้กับผู้ป่วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นการลดความแออัดในโรงพยาบาลขนาดใหญ่  ดึงเอาร้านขายยาภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม  ในปีงบประมาณ 2563 ตั้งเป้าให้ดำเนินการในโรงพยาบาลทั่วประเทศ 50 แห่ง ร้านขายยา 500 แห่ง  สำหรับในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 6 ประกอบด้วย  8 จังหวัด ได้แก่ สมุทรปราการ,ฉะเชิงเทรา,ปราจีนบุรี,สระแก้ว,ระยอง,ตราด,จันทบุรี ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้วในโรงพยาบาล 5 แห่งใน 4 จังหวัด

“และผมมีความมั่นใจที่จะดำเนินการได้ครบทั้ง 8 จังหวัด  เบื้องต้นโครงการนี้ดำเนินการดูแลเฉพาะผู้ป่วยสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ใน 4 กลุ่มโรค คือ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หอบหืด จิตเวชเรื้อรัง รวมถึงโรคเรื้อรังที่ไม่ซับซ้อน  ซึ่งแพทย์ผู้ทำการรักษาจะเป็นผู้ประเมินผู้ป่วยว่าอาการคงที่แล้ว เป็นโครงการที่เป็นทางเลือกตามความสมัครใจของผู้ป่วย ไม่มีการบังคับ และไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม  อยากให้สื่อมวลชนทราบว่าผู้ป่วยได้รับยาจากร้านขายยาคุณภาพเทียบเท่ากับยาที่ได้รับจากโรงพยาบาล  ดีกว่าตรงที่ผู้ป่วยมีโอกาสได้ปรึกษาด้านสุขภาพกับเภสัชกรมากขึ้น  ร้านขายยาทุกร้านมีมาตรฐานGPP : Good Pharmacy Practice จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)  ทางโรงพยาบาลชลบุรีมีระบบการคัดเลือกอย่างเข้มข้น  รับประกันในคุณภาพยา การบริการให้กับผู้ป่วย” นายแพทย์พีระมนกล่าว

นายแพทย์พีระมน กล่าวต่อว่า จากการดำเนินงานตั้งแต่ 1 ตุลาคม ที่ผ่านมา  ร้านขายยาได้มีการบันทึกข้อมูลเพื่อเบิกกับ สปสช.แล้ว  และยังไม่พบปัญหาอุปสรรคจากการเบิกที่ สปสช.มีงบประมาณให้ 70 บาทต่อ 1 ใบสั่งยา ซึ่งมีผู้ป่วยไปใช้บริการที่ร้านขายยาในชุมชนแล้ว อย่างที่ “โรงพยาบาลชลบุรีรับรักษาพยาบาลกับผู้ป่วยเฉพาะโรคที่มีความซับซ้อน รักษายากที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลจากแพทย์เฉพาะทาง  ที่ผ่านมารับผู้ป่วยประมาณ 1 ล้านvisit  หรือเฉลี่ย 4,000คน/วัน  กลุ่มผู้ป่วยที่เป็นโรคที่ไม่หนักมาก เป็นโรคเรื้อรังที่มีอาการคงที่จะถูกส่งต่อไปรักษาที่คลินิกหมอครอบครัวของโรงพยาบาล  ซึ่งที่นี่รับรักษาพยาบาลผู้ป่วยที่walk in, เป็นผู้ป่วยโรคเรื้อรัง แต่ละวันให้บริการผู้ป่วย 500-600 ราย/วัน  และมีการส่งต่อผู้ป่วยเป็นระดับตามศักยภาพการรักษา

นายแพทย์พีระมน กล่าวอีกว่า นอกจากดูแลผู้ป่วยที่มีอาการคงที่แล้ว  ผู้ป่วยส่วนหนึ่งยังถูกส่งไปรับการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่องที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.)ในเขตเมืองอีกด้วย  ก่อนหน้านี้ทางโรงพยาบาลชลบุรีได้มีประสานงานเตรียมความพร้อมรองรับนโยบายนี้มาระดับหนึ่ง  โดยใช้โมเดลที่หนึ่ง(โรงพยาบาลส่งยาไปให้ร้านขายยา)มีผู้ป่วยสมัครใจรับยาที่ร้านขายยาแล้ว 85 คนในโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง “ทางโรงพยาบาลชลบุรี ได้ระดมความคิดเห็นร่วมกับสมาคมเภสัชกรจังหวัดชลบุรี สมาคมผู้ประกอบการร้านขายยาจังหวัดชลบุรี มีมติเลือกใช้โมเดลที่หนึ่ง โดยให้ผู้ป่วยรับยาที่แผนกเภสัชกรรมในครั้งแรกก่อนคือ 1  เดือน เมื่อครบ 1 เดือนก็มาพบแพทย์และรับยาที่ร้านขายยาภายนอกที่เข้าร่วมโครงการ “ร้านยาชุมชนอบอุ่น” หรือร้านยาคุณภาพใกล้บ้าน อีก 3 เดือน เมื่อครบกำหนดแล้วก็จะต้องมาพบแพทย์ที่รพ.อีกครั้งตามที่แพทย์นัด

“ในนาม สปสช.เขต 6 ระยอง ที่รับผิดชอบต่อนโยบายนี้ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข ขับเคลื่อนนโยบายลดความแออัดในโรงพยาบาลภาครัฐ  ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา มีร้านขายยาเข้าร่วมโครงการ 19 ร้านใน 4 จังหวัด ได้แก่ สมุทรปราการ ชลบุรี ระยองและจันทบุรี  อีก 4 จังหวัดกำลังทยอยเข้าร่วมโครงการ  มีวัตถุประสงค์เพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาล เพิ่มร้านยาคุณภาพ ลดภาระของโรงพยาบาลขนาดใหญ่  คาดว่าได้รับการตอบรับจากร้านขายยาที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน GPP  ทำให้ผู้ป่วยได้รับยาและบริการที่มีคุณภาพ  รับยาฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย  ซึ่งบริการแก่ผู้ป่วยที่มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  ผู้ป่วยที่สนใจสามารถแจ้งความประสงค์ได้ที่แพทย์ผู้ทำการรักษา” นพ.พีระมน กล่าวในที่สุด

ขณะที่ ดร.พญ.สุชาดา  อโนทยานนท์ รอง ผอ.รพ.ชลบุรีในฐานะที่ดูแลเรื่องนี้  กล่าวว่า ส่วนกระบวนการในการคัดเลือกร้านขายยาทางโรงพยาบาลชลบุรีมีคณะกรรมการพิจารณา ในช่วงแรกคัดเลือกร้านยาคุณภาพแล้ว 4 ร้าน  และมีโครงการตั้งเป้าหมายคัดเลือกไว้ 29 ร้าน ซึ่งเปิดรับสมัครถึง 31 มีนาคม 2563  หลังจากคัดเลือกร้านขายยาเข้าโครงการแล้ว ทางสภาวิชาชีพเภสัชกรรมอบรมร้านขายยา ซึ่งรุ่นแรกมีการอบรมแล้ว  สำหรับผู้ป่วยก็ได้ชี้แจงให้ทราบและต้องลงนามยินยอมรับยาครั้งต่อไปโดยหลักฐานทั้งหมดก็จะเก็บที่โรงพยาบาล โดยผู้ป่วยต้องมีสมุดที่คนไข้พบหมอและใบสั่งยาจากหมอ พร้อมบัตรประชาชนในการยืนยันตัวตน และก็สามารถไปรับยาได้ที่ร้านขายยาในโครงการที่อยู่ใกล้บ้านหรือใกล้ที่ทำงาน

โดยขั้นตอนแรกผู้ป่วยที่เข้าโครงการต้องมาพบแพทย์ก่อน มานัดตรวจ ยืนยันตัวตน พร้อมสมุดนัดหมายคนไช้ และบัตรประชาชน โดยครั้งแรกทางรพ.จัดยาให้รับประทานก่อนได้ประมาณ 1 เดือนก็มาพบแพทย์อีกครั้งจากนั้นทางแพทย์จะสั่งจ่ายยาเพื่อให้คนไข้ไปรับยาได้ที่ร้านขายยาพร้อมกับนำยากเก่าที่เหลือไปที่ร้านขายยาด้วยเพื่อทำการคัดกรองให้กับรพ.อีกที  ขณะนี้ทางโรงพยาบาลชลบุรีกำลังเก็บรวบรวมข้อมูลการรับยาของผู้ป่วยว่ามีอาการข้างเคียงเกิดขึ้นหรือไม่  หากเจอปัญหายาเหลือ ทานไม่หมดหรือรับบาแล้วไม่ทาน เช่น ความดันโลหิตสูงขึ้น จะมีการสื่อสารมายังโรงพยาบาลชลบุรีว่าจะมีการปรับยาให้ผู้ป่วยอย่างไร ส่วนยาที่ผู้ป่วยได้รับและไม่ทานเหลือหากพบว่ายังไม่หมดอายุหรือมีการเก็บรักษาไว้เหมือนเดิมทางร้านขายยาจะส่งไปที่รพ.

ดร.พญ.สุชาดา  กล่าวต่อว่า “จังหวัดชลบุรี  มีผู้ประกอบการร้านขายยามากเป็นอันดับสองรองจากกรุงเทพมหานคร  สภาวิชาชีพเภสัชกรรมกำหนดเกณฑ์มาตรฐานร้านขายยา เป็นการสร้างมั่นใจให้ผู้ป่วยที่สมัครใจรับยาที่ร้านขายยา  นโยบายนี้เป็นนโยบายที่ดีที่สร้างสรรค์  จะช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาลได้และผู้ป่วยมีความพึงพอใจต่อนโยบายนี้ ที่ผ่านมาพบปัญหาการรับประทานยาของผู้ป่วย เช่น รับประทานยาไม่ครบถ้วน ไม่ครบกำหนด มียาเหลือ ทางเภสัชกรร้านขายยาช่วยแนะนำแก้ไข อธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจ

ลุงชัยโรจน์ ผู้ป่วยเบาหวาน และความดันโลหิตสูง
ป้าเมตตา ผู้ป่วยความดันโลหิตสูง

นอกจากนี้  คณะสื่อมวลชนได้ลงพื้นที่ที่คลินิกหมอครอบครัว ศูนย์สุขภาพชุมชนเมืองชลบุรี และร้านขายยาสมนึกเภสัช  ดูความเชื่อมโยงของการรับบริการของผู้ป่วย  รวมถึงสอบถามความพึงพอใจของเภสัชกรร้านขายยาและผู้ป่วยที่รับยาที่ร้านขายยาด้วย ซึ่งเป็นผู้ป่วยสูงอายุคือ นางเมตตา นิตยกัญจน์ อายุ 67 ปี ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง และนายชัยโรจน์ แซ่อือ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูง  อายุ 74 ปี ซึ่งทั้ง 2 คนบอกว่าเป็นโครงการที่ดี รู้สึกอบอุ่นและได้พูดคุยกับเภสัชการร้านขายยาให้ความรู้ความเข้าใจมากขึ้น บางครั้งก็มีไปเยี่ยมบ้านด้วยเพื่อดูยา ส่วนยาที่ไปรับก็ไม่ต้องเสียเงินแถมอยู่ใกล้บ้านด้วย สะดวกดี