สทน.ร่วมกับ สพฐ. หนุนการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ในโรงเรียน

89

เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2562 ณ ห้องประชุม. สพฐ. ๑ อาคาร สพฐ. ๔ ชั้น 2 กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือส่งเสริมการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ในโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย โดยมีสำนักบริหารงานความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์ศึกษา เป้นผู้จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงฯครั้งนี้ ระหว่าง ดร.พรเทพ นิศามณีพงษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม(อว.) และ นายอำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการ คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) เป็นผู้ร่วมลงนาม

โดย ดร.พรเทพ นิศามณีพงษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(สทน.) เปิดเผยว่า ปัจจุบัน ประชาชนไทยส่วนใหญ่ขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องต่อวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์และรังสีว่ามีประโยชน์ในชีวิตประจำวัน และต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศได้อย่างไร จึงส่งผลให้การนำเทคโนโลยีนิวเคลียร์ใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน หรือแม้กระทั่งนำมาสนับสนุนในการดำเนินธุรกิจก็ไม่ค่อยได้รับความสนใจและการสนับสนุนจากประชาชนเท่าที่ควร ดังนั้นสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. จึงได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางการศึกษากับสพฐ. เพื่อพัฒนาการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ในโรงเรียน

ดร.พรเทพ นิศามณีพงษ์
ผอ.สทน.

เป้าหมายสำคัญของความร่วมมือคือ การสร้างความตระหนักต่อสาธารณะเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องต่อวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์และรังสี อันจะนำไปสู่การยอมรับต่อเทคโนโลยีและเกิดการใช้ประโยชน์ที่กว้างขวางยิ่งขึ้น ในเบื้องต้นจะสนับสนุนการเรียนการสอนในกลุ่มโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยเพื่อให้เป็นโรงเรียนต้นแบบด้านการส่งเสริมการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์ในโรงเรียน หลังจากนั้นจึงจะขยายไปยังโรงเรียนอื่น ๆ ต่อไป 

สำหรับบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้ มีผลบังคับใช้เป็นระยะเวลา 5 ปี กำหนดขอบเขตความร่วมมือ ดังนี้
พัฒนาศักยภาพบุคลากรของโรงเรียนให้สามารถจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์ในโรงเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นต้นแบบในการขยายผลไปยังโรงเรียนพื้นที่บริการต่อไปได้ พัฒนาแผนการเรียนการสอนที่ส่งเสริมการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นิวเคลียร์ สนับสนุน การฝึกฝนทักษะการวิจัย กิจกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น ค่ายวิทยาศาสตร์ สนับสนุนผู้ทรงคุณวุฒิ วิทยากรและแหล่งเรียนรู้  ความร่วมมืออื่นๆ ที่ช่วยเพิ่มศักยภาพของโรงเรียนและนักเรียน

ด้านนายอำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวว่า สพฐ. ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางการศึกษา กับ สทน. โดยมีเจตนาร่วมกันที่จะพัฒนากลุ่มโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยให้เป็นโรงเรียนต้นแบบด้านการส่งเสริมการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์ในโรงเรียน ในด้านต่าง ๆ เช่น พัฒนาศักยภาพบุคลากรของโรงเรียนให้สามารถจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์ในโรงเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นต้นแบบในการขยายผล ไปยังโรงเรียนพื้นที่บริการต่อไปได้ สนับสนุนพัฒนาแผนการเรียนการสอนที่ส่งเสริมการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์ สนับสนุนการฝึกฝนทักษะการวิจัย สนับสนุนผู้ทรงคุณวุฒิ วิทยากรและแหล่งเรียนรู้ และความร่วมมืออื่นๆ ที่ช่วยเพิ่มศักยภาพของโรงเรียนและนักเรียนอย่างมีประสิทธิภาพได้ต่อไปในอนาคต

ด้านนายภูริวรรษ คำอ้ายกาวิน ผอ.สำนักบริหรงานความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์ศึกษา กล่าวเสริมว่าความเป็นมาของการลงนามบันทึกข้อตกลงครั้งนี้เกิดจากการร่วมมือระหว่าง สทน.กับกลุ่มโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ซึ่งที่ผ่านมา สทน.ได้ให้การสนับสนุนส่งครูวิทยาศาสตร์ โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยที่มีศักยภาพเข้าร่วมโครงการส่งเสริมการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์ในโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนวิทยาศาสตรืแก่นักเรียนในระดับมัธยมศึกษา โดยเห็นว่า กลุ่มโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย เป็นโรงเรียนที่มีศักยภาพในการเป็นโรงเรียนต้นแบบการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์และสามารถขยายผลไปยังโรงเรียนอื่นๆในสังกัด สพฐ.ต่อไป

อีกทั้งสทน.ยังได้เสนอชื่อครูวิทยาศาสตร์จากกลุ่มโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณฯเข้าร่วมฝึกอบรมภายใต้ โครงการส่งเสริมการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์ในโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาแล้วจำนวน 7 คน และมีครูที่เคยผ่านการฝึกอบรมแล้วเป็นวิทยากรในการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ที่ได้จากการฝึกอบรมใสต่างประเทศ รวมทั้งร่วมกันจัดทำแผนการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์ เพื่อเป็นต้นแบบสำหรับการประยุกต์ใช้ในโรงเรียนหรือถ่ายทอดให้แก่โรงเรียน

นายภูริวรรษ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันการเรียนการสอนและเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับรังสีและเทคโนโลยีนิวเคลียร์ยังอยู่ในวงจำกัด เพราะขาดแคลนเครื่องมือที่ใช้เป็นสื่อในการเรียนการสอน ต้องนำเข้าตากต่างประเทศ มีราคาแพง เมื่อเครื่องมือเกิดความเสียหายโรงกรียนก็ไม่มีงบประมาณในการซ่อมแซม การเรียนรู้จึงไม่ค่อยบรรลุผลและขาดความต่อเนื่อง  สทน.จึงได้ดำเนินการสร้างรูปแบบการเรียนรู้ให้ครบวงจร ตั้งแต่กระบวนการแนะนำ และให้ความรู้พื้นฐานแก่ครู โดยร่วมกับโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย  ส่งครูไปอบรมในต่างประเทศ เช่น อเมริกา อินโดนีเซีย และญี่ปุ่น เพื่อจะให้นำความรู้ด้านรังสีและวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์กลับมาประยุกต์เข้ากับหลักสุตรการเรียนการสอน นอกจากนี้ยังมอบเครื่องมือวัดรังสี ที่สทน.พัฒนาขึ้นเองให้แก่โรงเรียนเพื่อนำไปใช้เป็นสื่อการเรียนการสอน สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่นักเรียน หากโรงเรียนนำเครื่องมือไปใช้แล้วเกิดความเสียหายก็สามารถนำกลับไปให้ สทน.ซ่อมบำรุงและนำกลับไผใช้ต่อได้ จะดำเนินการในระยะแรก สทน.ตั้งเป้าขยายการเรียนรู้ใน 50 โรงเรียน