เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2562 สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ภารกิจด้านอุดมศึกษา) จัดการประชุมการรับทราบและรับฟังข้อเสนอแนะ “การปรับปรุงเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษา ปี 2558 และ มคอ. เพื่อให้สอดคล้องกับการเรียนรู้ในยุคปัจจุบัน” ณ โรงแรมแอมบาสเดอร์ สุขุมวิท กรุงเทพฯ
โดย ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวในตอนหนึ่งของการเปิดการประชุมฯ ว่า มหาวิทยาลัยจำเป็นจะต้องเป็นตัวขับเคลื่อนหลักในการเปลี่ยนผ่านประเทศไทยไปสู่ศตวรรษที่ 21 โจทย์สำคัญของกระทรวงการอุดมศึกษาฯ คือ 1.การสร้างและพัฒนาทุนมนุษย์ ทำอย่างไรให้คนไทยไปสู่การ global smart citizen ตัวหลักสำคัญที่จะให้สิ่งนี้เป็นจริงขึ้นมาได้คือมหาวิทยาลัย 2.การสร้างองค์ความรู้ผ่านการวิจัย การวิจัยต่อจากนี้จะต้องเป็นการวิจัยเพื่อตอบโจทย์ประเทศ ตอบโจทย์ประชาชน ตอบโจทย์ภาคเอกชน แล้วในหลายๆภาคของการวิจัยจะต้องตอบโจทย์โลกเป็นสำคัญ และ 3.การสร้างนวัตกรรม ซึ่งจะต้องมีความหลากหลาย จะต้องเป็นนวัตกรรมทางสังคม นวัตกรรมชุมชน นวัตกรรมแก้จน ต้องเป็นนวัตกรรมที่คนส่วนใหญ่จะได้ประโยชน์ เราจะเดินหน้าไปด้วยกัน และจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
โจทย์เหล่านี้คือความคาดหวังที่ประเทศมีต่อมหาวิทยาลัย รัฐบาลมีต่อมหาวิทยาลัย เพราะฉะนั้นความคาดหวังนี้จะนำมาสู่การสร้างพลังให้เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัย จากนี้ไปกระทรวงการอุดมศึกษาฯ จะไม่ใช่ higher education อีกต่อไป แต่จะเป็น lifelong education คือการเรียนรู้ตลอดชีวิต โจทย์ของมหาวิทยาลัยจะใหญ่ขึ้น มากขึ้น กว้างขึ้น มหาวิทยาลัยจะต้องช่วยดูแลคนส่วนใหญ่ของประเทศ ทั้งวัยแรงงาน กลุ่มผู้สูงวัย อีกทั้งกลุ่มบัณฑิตที่มหาวิทยาลัยผลิตออกมาก็จะต้องมีคุณภาพ นี่คือโอกาสของมหาวิทยาลัย
“สิ่งที่เกิดขึ้นคือมหาวิทยาลัยยังคงติดกับดัก และมีข้อจำกัดต่างๆ มากมาย ถ้าเราคาดหวังให้มหาวิทยาลัยเป็น floor font ในการเปลี่ยนแปลงประเทศ คาดหวังให้มหาวิทยาลัยในอนาคตมีลู่วิ่งของตัวเอง เพื่อไปตอบโจทย์ประเทศ เราจะต้องยกเครื่องมหาวิทยาลัยครั้งใหญ่ ต้องปลดล็อกเพื่อให้มหาวิทยาลัยสามารถทำงานให้กับประเทศ เพื่อให้มหาวิทยาลัยสร้างคน สร้างองค์ความรู้ และสร้างนวัตกรรม นำประเทศไทยไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 อย่างสมบูรณ์ และเป็นพลังหลักในการขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0 อย่างแท้จริง” รมว.อว.กล่าวในตอนท้าย