“เซ็นทรัลแล็บไทย” จับมือ “กรมส่งเสริมวัฒนธรรม”ยกระดับอาหารวัฒนธรรมไทย นำร่องตรวจคุณภาพข้าวหลามพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ

195

บริษัทห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย)จำกัด ลงนามบันทึกความร่วมมือ ร่วมกับ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ยกระดับอาหารพื้นบ้านตามภูมิภาคต่างๆของประเทศไทยเพื่อให้มีมาตรฐานสากล โดยจะเริ่มนำร่องที่ข้าวหลาม ก่อนจะขยายไปยังอาหารทางวัฒนธรรมอื่นๆในทุกภูมิภาค

เมื่อ​วันที่ 21 พฤศจิกายน 2562 ณ ศูนย์ฝึกอบรม บริษัทห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด ในมหาวิทยาลัยเกษตร บางเขน  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วีระพงศ์  มาลัย กรรมการบริษัท รักษาการกรรมการผู้อำนวยการบริษัทห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัดหรือ เซ็นทรัลแล็บไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้การกำกับของรัฐ ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือในโครงการพัฒนาอาหารวัฒนธรรม ร่วมกับ นายชาย นครชัย อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมอาหารวัฒนธรรมไทย ให้เป็นที่ยอมรับของผู้คนทั่วโลทั้งในด้านคุณภาพ และความปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค ส่งเสริมให้เกิดกลไกในการพิจารณาคัดเลือกประเภทอาหารวัฒนธรรมไทยที่เป็นตัวแทนในแต่ละภูมิภาค สนับสนุนให้เกิดกลไกการตรวจวิเคราะห์และรับรองตามเกณฑ์อาหารด้านคุณภาพและความปลอดภัยที่กำหนด

และส่งเสริมให้เกิดการใช้เครื่องหมายการรับรองที่แสดงให้เห็นถึงเอกลักษณ์เฉพาะตัวของไทยและเป็นที่ยอมรับของผู้คนทั่วโลก

อาหารวัฒนธรรมไทยชนิดแรกที่ได้รับการคัดเลือกเข้าสู่กระบวนการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ คือ ข้าวหลาม ซึ่งเป็นอาหารท้องถิ่นชื่อดังของหลายจังหวัดในประเทศไทย สำหรับเกณฑ์การตรวจวิเคราะห์มาตรฐานจะครอบคลุมในหลายด้าน เช่น สถานที่ผลิตต้องได้มาตรฐาน (primary GMP) วัตถุดิบ และบรรจุภัณฑ์ที่นำมาทำข้าวหลาม ต้องเป็นไปตามเกณฑ์อาหารปลอดภัย หรือ (Food safety) มีการทดสอบหาคุณค่าทางโภชนาการ (Nutrition Facts) ที่จะได้รับจากการกินข้าวหลาม การตรวจหาอายุของผลิตภัณฑ์ (Shelf-life) โดยการทดสอบทั้งหมดจะไม่ไปเปลี่ยนแปลงขั้นตอนการผลิตของผู้ประกอบการ เพื่อให้คงเอกลักษณ์เฉพาะตัวของอาหารท้องถิ่น

ผศ.ดร.วีระพงศ์ มาลัย กรรมการบริษัท รักษาการ กรรมการผู้อำนวยการ เซ็นทรัลแล็บไทยฯ
นายชาย นครชัย อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม

สำหรับโครงการพัฒนาอาหารวัฒนธรรม ตั้งเป้าคัดเลือกอาหารวัฒนธรรมทุกภูมิภาคในประเทศไทยเข้าสู่กระบวนการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ เพื่อยกระดับอาหารทาวัฒนธรรมของประเทศไทยให้มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล โดยเกณฑ์การตรวจจะแปรผันไปตามลักษณะของอาหาร แต่ยังคงยึดหลักการเช่นเดียวกับข้ามหลาม หากผู้ประกอบการรายใดผ่านการตรวจสอบมาตรฐานทั้งหมดจะได้รับตรารับรองจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม