TMA จับมือ ศศินทร์ ประกาศผลรางวัลพระราชทาน Thailand Corporate Excellence Awards 2019 และ SMEs Excellence Awards 2019

47

ผลักดันความเป็นเลิศธุรกิจไทย เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

TMA จับมือ ศศินทร์ ประกาศผลรางวัลพระราชทาน Thailand Corporate Excellence Awards 2019 และ SMEs Excellence Awards 2019 

จากการรายงานผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่า ทั่วโลก โดยสถาบัน IMD จากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 25 จากทั้งหมด 63ประเทศ ซึ่งเป็นผลจากการพิจารณาความสามารถใน 4 ด้าน ได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจ โครงสร้างพื้นฐาน ประสิทธิภาพของภาครัฐ และประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ ซึ่งในการนี้ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจนับเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญต่อการพัฒนาประเทศ

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) ในฐานะผู้ผลักดันการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันและพัฒนาศักยภาพของนักบริหาร ได้ร่วมกับสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ริเริ่มการจัดทำโครงการรางวัลพระราชทาน Thailand Corporate Excellence Awards ซึ่งได้จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 17รวมทั้งจัดทำโครงการ SMEs Excellence Awards เพื่อเป็นแบบอย่างการบริหารจัดการที่เป็นเลิศขององค์กรธุรกิจ SMEs โดยหวังว่าทั้งสองโครงการนี้จะมีส่วนช่วยในการผลักดันให้เกิดการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันระดับองค์กร ช่วยยกระดับขีดความสามารถในภาคธุรกิจและในการแข่งขันของประเทศโดยรวม อันจะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจไทยให้เจริญเติบโตอย่างยั่งยืน

 

รางวัลพระราชทาน Thailand Corporate Excellence Awards 2019 จำนวน 9 สาขารางวัลประกอบด้วย

1.สาขาความเป็นเลิศด้านการพัฒนาการบริหารจัดการขององค์กร (Corporate Improvement Excellence)

2.   สาขาความเป็นเลิศด้านการบริหารทางการเงิน (Financial Management Excellence)

3.   สาขาความเป็นเลิศด้านการจัดการทรัพยากรบุคคล (Human Resource Management Excellence)

4.   สาขาความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมและการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ (Innovation Excellence)

5.   สาขาความเป็นเลิศด้านผู้นำ (Leadership Excellence)

6.   สาขาความเป็นเลิศด้านการตลาด (Marketing Excellence)

7.   สาขาความเป็นเลิศด้านสินค้า/การบริการ (Product / Service Excellence)

8.   สาขาความเป็นเลิศด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Excellence)

และสาขารางวัลสำหรับองค์กรขนาดกลางที่มีรายได้ไม่เกิน 10,000 ล้านบาท/ปี จำนวน 1 สาขาคือ สาขาความเป็นเลิศในการบริหารจัดการโดยรวม (Corporate Management Excellence)

รางวัลพระราชทาน SMEs Excellence Awards2019 จำนวน 3 รางวัล ซึ่งได้รับการเสนอชื่อโดยธนาคารพาณิชย์คัดเลือก SMEs ที่มีความโดดเด่ดในการดำเนินธุรกิจ 3 ประเภท ดังนี้ ประเภทธุรกิจอุตสาหกรรมการผลิต (Manufacturing) ประเภทธุรกิจบริการ (Services) ประเภทธุรกิจค้าปลีกและค้าส่ง (Trading)

ลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกล่าวในฐานะประธานในพิธีมอบรางวัลว่า โลกในปัจจุบันกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในทุกมิติ การที่ประเทศใดประเทศหนึ่งจะพัฒนาเศรษฐกิจสังคมให้เจริญรุดหน้า ไม่สามารถเกิดขึ้นได้จากการดำเนินการของรัฐบาลเพียงฝ่ายเดียว แต่ต้องเกิดจากความเข้าใจและร่วมมือร่วมใจกันของทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐ เอกชน ภาคการศึกษา และประชาสังคมต่างๆ   ในส่วนของภาคธุรกิจ ความท้าทายของผู้นำในโลกยุคใหม่ คือ ทำอย่างไรให้สามารถรู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลง มองเห็นสัญญาณและคาดการณ์ไปข้างหน้า เป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงและเตรียมองค์กรให้พร้อมสำหรับอนาคต โดยใช้ความสามารถในการพัฒนาและบริหารทรัพยากรต่างๆ ทั้ง คน เงิน เทคโนโลยี เพื่อสร้างนวัตกรรม สินค้าและบริการที่เป็นเลิศ ที่ตอบสนองต่อความต้องการของตลาด มีความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค และมีความยั่งยืนโดยไม่สร้างปัญหาและผลกระทบในทางลบให้กับสังคมและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ผมมีความเชื่อมั่นว่าภาคธุรกิจเอกชนของเรามีความพร้อม และมีความตั้งใจที่จะร่วมกันขับเคลื่อนเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้ก้าวไปสู่ประเทศชั้นแนวหน้า และทุกท่านในที่นี้เป็นประจักษ์พยานของความมุ่งมั่น และเป็นตัวอย่างของความสำเร็จของความเป็นเลิศในด้านต่างๆ

นายธีรนันท์ ศรีหงส์ ประธาน สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) กล่าวถึงการจัดโครงการรางวัลพระราชทาน Thailand Corporate Excellence Awards และรางวัลพระราชทาน SMEs Excellence Awards 2019 ว่าเป็นการตอกย้ำภารกิจของ TMA ในการสนับสนุนให้เกิดความตื่นตัวในการเพิ่มศักยภาพ ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับองค์กร ซึ่งจะส่งผลถึงขีดความสามารถในระดับประเทศต่อไปทุกๆ องค์กรที่ได้รับรางวัลในวันนี้ นอกจากจะแสดงให้พวกเราเห็นถึงศักยภาพในการบริหารจัดการที่เป็นเลิศแล้ว  ผมเชื่อว่าท่านยังเป็นแรงบันดาลใจและเป็นแบบอย่างให้กับองค์กรอื่นๆ ในประเทศไทย ในการพัฒนาการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลที่ดียิ่งขึ้นอีกด้วย

ศาสตราจารย์ ดร. เอียน เฟนวิค (Professor Dr. lan Fenwick) ผู้อำนวยการสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวว่า ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป การที่บริษัทต่างๆ จะอยู่รอดได้นั้นจำเป็นต้อง Transforms องค์กรอย่างมีกลยุทธ์ และใช้เทคโนโลยีเข้ามาอยู่ในกระบวนการทำงาน ส่งเสริมวัฒนธรรมองค์กรให้มีทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) รวมถึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาธุรกิจแบบยั่งยืน โดยคำนึงถึงสังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นวิธีที่สถาบันบัณฑิตฯ ศศินทร์ นำมาบรรจุไว้ในหลักสูตรการเรียนการสอนในปัจจุบัน ผมเชื่อมั่นว่า แนวทางการบริหารจัดการอันเป็นเลิศขององค์กรชั้นนำและผู้ประกอบการ SMEs จะทำให้ภาคธุรกิจต่างๆ สามารถเรียนรู้วิธีการจัดการของผู้ที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ เพื่อรองรับความท้าทายของโลกธุรกิจในอนาคตได้เป็นอย่างดี โดยรางวัลพระราชทานทั้ง 2 รางวัล เป็นเครื่องยืนยันถึงความมุ่งมั่น ความตั้งใจพัฒนาการบริหารจัดการขององค์กร รวมทั้งทุกๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้องและมีส่วนสำคัญในการเจริญเติบโตของธุรกิจไทย

สำหรับขั้นตอนในการเสนอชื่อองค์กรที่มีความเป็นเลิศในการบริหารจัดการรางวัล Thailand Corporate Excellence Awards คณะผู้ทรงคุณวุฒิและคณะอนุกรรมการโครงการฯ เป็นผู้เสนอรายชื่อองค์กรต่างๆ จากนั้นแต่ละองค์กรจะต้องนำส่งข้อมูลเกี่ยวกับแนวทางการบริหารองค์กร รวมถึงผลลัพธ์และความสำเร็จจากการดำเนินงาน เพื่อโครงการฯ ได้นำข้อมูลไปใช้ประกอบการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารระดับสูงขององค์กรที่มีรายได้สูงสุด 1,000 องค์กรในประเทศไทย เพื่อคัดเลือกองค์กรที่จะได้รับรางวัลพระราชทานฯ ในแต่ละสาขารางวัลต่อไป

ในการคัดเลือกรางวัล SMEs Excellence Awards องค์กรธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(SMEs) ที่มีระบบการบริหารจัดการโดยรวมเป็นเลิศ ทางธนาคารต่างๆ จะเลือกเฟ้น SMEs ที่ประกอบธุรกิจการผลิต การบริการ หรือการค้าปลีก/ค้าส่ง ซึ่ง SMEs และจะส่งข้อมูลคุณสมบัติองค์กรและแนวทางการบริหารจัดการ ให้กับคณะกรรมการได้พิจารณาคะแนนและประมวลผลข้อมูล เพื่อคัดเลือกองค์กรที่ได้คะแนนผ่านเกณฑ์ จากนั้นคณะกรรมการจะเข้าเยี่ยมชมและพิจารณาให้รางวัลตามระดับความเป็นเลิศ

ทั้งนี้ TMA จะได้รวบรวมข้อมูลมาตรฐานการบริหารจัดการที่เป็นเลิศขององค์กรธุรกิจที่เข้าร่วมโครงการฯ  เพื่อนำมาเป็นแบบอย่างให้กับผู้ประกอบการรายอื่นๆ ได้นำไปศึกษาและปรับใช้เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการบริหารจัดการต่อไป