
เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2563 นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนาวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) นำคณะเจ้าหน้าที่ สปสช.ส่วนกลาง สื่อมวลชน ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมห้องฉุกเฉิน(ER)โรงพยาบาลศูนย์อุดรธานี จ.อุดรธานี ที่ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจสภ.อ.เมืองอุดรธานี ตั้งสถานีตำรวจชุมชนรพ.อุดรธานีอยู่หน้าห้องฉุกเฉินภายในโรงพยาบาล เพื่อป้องกันความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่และผู้ป่วย เนื่องจากพบปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นในER เช่น มีวัยรุ่นยกพวกตีกันหน้าห้องER ,สามีผู้ป่วยเมาสุรา เข้ามาเอะอะโวยวาย ทำร้ายผู้ป่วยซ้ำในER เป็นต้น
โดยมี ทพ.กวี วีระเศรษฐกุล ผอ.สปสช.เขต8 อุดรธานี นพ.ณรงค์ ธาดาเดช ผอ.รพ.ศูนย์อุดรธานี นพ.เอกภักดิ์ ระหว่างบ้าน แพทย์ชำนาญการ เวชศาสตร์ฉุกเฉิน รพ.ศูนย์อุดรธานี และร.ต.อ.พิทักษ์ พรหมวงษ์ซ้าย รองสารวัตรป้องกันและปราบปราม สภอ.เมืองอุดรธานี ให้การต้อนรับและนำเสนอข้อมูล พร้อมนำชมการปฏิบัติการห้องฉุกเฉิน(ER) และการให้ผู้ป่วยบัตรทองใน กลุ่ม 3 โรค(เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หอบหืด) รับยาใกล้บ้าน จากร้านขายยาที่ร่วมโครงการ “รับยาใกล้บ้าน เภสัชกรใกล้ใจ” ที่รพ.ศูนย์อุดรธานี ซึ่งจัดบริการแล้วตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา จำนวน 5 ร้านและศูนย์สุขภาพชุมชนเมือง 3 แห่ง
นพ.ณรงค์ ธาดาเดช ผอ.รพ.ศูนย์อุดรธานี กล่าวว่า จากข้อมูลที่ผ่านมาโรงพยาบาลอุดรธานีจะมีผู้ป่วยที่มารับบริการตลอด 24 ชั่วโมงทั้งในเวลาราชการและนอกเวลาราชการ โดยเฉพาะนอกเวลาราชการที่ห้องตรวจต่างๆไม่ได้เปิดบริการทำให้ผู้ป่วยทุกประเภทมารวมตรวจอยู่ห้องฉุกเฉิน(ER)ทั้งหมด เกิดปัญหาผู้ป่วยรอนาน แออัด ไม่เข้าใจระบบการรักษาในห้องฉุกเฉิน ทางรพ.จึงได้จัดแบ่งโซนสีต่างๆในการประชาสัมพันธ์ให้กับญาติผู้ป่วย รวมถึงผู้ป่วยได้เข้าใจของคำว่าฉุกเฉินทางการแพทย์ซึ่งมีหลายระดับ โดยแบ่งโซนของคำว่าฉุกเฉินไว้ทั้งหมด 4 สีด้วยกัน คือ สีแดง หมายถึง มีภาพวะที่อาจทำให้เสียชีวิต ควรได้รับการตรวจทันที, สีชมพู หมายถึง มีภาวะเสี่ยงต่อการเสียชีวิต ควรได้รับการตรวจภายใน 10 นาที,สีเหลือง หมายถึง ผู้ป่วยฉุกเฉินควรได้รับการตรวจภายใน 30 นาที, สีเขียว หมายถึง ผู้ป่วยที่เจ็บเล็กน้อยควรได้รับการตรวจภายใน 1 ชั่วโมง ส่วนสีขาว หมายถึง ผู้ป่วยนอกทั่วไป สำหรับกรณีที่ผู้ป่วยมาในช่วงเวลานอกราชการหรือฉุกเฉิน ทางรพ.ยังมีห้องพักญาติที่รอผู้ป่วยรักษาในห้องฉุกเฉิน รวมทั้งยังมีจอทีวีที่จะบอกรายละเอียดของผู้ป่วยที่อยูในห้องฉุกเฉินว่าอยู่ในขั้นไหนอีกด้วย เพื่อคลายความกังวลให้กับญาติผู้ป่วยอีกด้วย
นพ.ณรงค์ กล่าวต่อว่า จากสถิติปี 2562 มีผู้ป่วยวิกฤตและฉุกเฉินมาก(แดงและชมพู) เฉลี่ย 88ราย/วัน จากผู้ป่วยอุบัติเหตุและวิกฤตทั้งหมดเฉลี่ย 223/วัน ในการให้บริการรพ.ในER ปัญหาที่พบคือ ผู้ป่วยวิกฤติมีแดงมารับบริการในช่วงเวลาเดียวกันเกินมากกว่าจำนวนเตียงที่มีและมีการช่วยชีวิตหรือใส่ท่อช่วยหายใจพร้อมๆกัน เทำให้เกิดความแออัดนอกจากนี้แล้ว ในด้านการป้องกันความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่และผู้ป่วย พบปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นในER เช่น มีวัยรุ่นยกพวกตีกันหน้าห้องER ,สามีผู้ป่วยเมาสุรา เข้ามาเอะอะโวยวาย ทำร้ายผู้ป่วยซ้ำในER เป็นต้น โดยทางรพ.ได้มีการเตรียมแผนรองรับความรุนแรงในER ที่จะเกิดขึ้น โดยเปิดสถานีตำรวจชุมชนนับว่าเป็น”นวัตกรรมสถานีตำรวจชุมชนในรพ. แห่งแรกของประเทศ “ และมีตำรวจมาประจำอยู่เวรทุก 2ชั่วโมง เข้ามาดูแลความเรียบร้อยในรพ. ช่วยลดความวิตกกังวลของญาติและสร้างความพึงพอใจให้แก่ผู้มารับบริการเป็นอย่างมาก
นพ.ณรงค์ กล่าวถึง โครงการรับยาผู้ป่วยสิทธิ์บัตรทองในการไปรับยาที่ร้านขายยาเข้าร่วมโครงการในจังหวัดว่า มีร้านยาเข้าร่วมโครงการ 5 แห่งและมี ศูนย์สุขภาพชุมชนเมือง 3แห่ง จากผลการดำเนินการตั้งแต่1ตุลาคม -31ธันวาคม 2562 มีผู้ป่วยสนใจเข้าร่วมโครงการแบบสมัครใจทั้งหมด159 รายแต่เมื่อคัดกรองเข้าเกณฑ์ที่กำหนด มีเพียง 44 ราย ขณะนี้ มีผู้ป่วยไปรับยาแล้วทั้งสิ้น 21ราย จากทั้งหมด44ราย มีเภสัชกรร้านยาสามารถให้บริการผู้ป่วยได้เป็นอย่างดีพบปัญหาผู้ป่วยเพียง 2 ราย ที่มีปัญหาด้านยา เภสัชกร ได้ติดต่อประสานแจ้งปรึกษาทางโรงพยาบาลและสามารถให้คำแนะนำผู้ป่วยที่ร้านยาโดยผู้ป่วยไม่ต้องกลับมารับยาที่โรงพยาบาล อย่างไรก็ตาม พบว่าผู้ป่วยมีความพึงพอใจในการไปรับบริการในระดับดีมากเนื่องจากลดระยะเวลาการรอรับบริการจนสิ้นสุดกระบวนการเมื่อเทียบกับการไปรับบริการที่โรงพยาบาล

ขณะที่นพ.ศักดิ์ชัย เลขาธิการ สปสช. กล่าวภายหลังรับฟังข้อมูลและตรวจเยี่ยมห้องฉุกเฉินและร้านยาที่ร่วมโครงการฯว่า จากนโยบายของรัฐบาลโครงการ 1ตุลาคม 2562 ผู้ป่วยรับยาที่ร้านยาฯ มีความคืบหน้าเป็นไปอย่างเข้มแข็งทุกพื้นที่ มีร้านยาเข้าร่วมกว่า 500 แห่งทั่วประเทศ มีผู้ป่วยเข้าร่วมกว่า 3,000คน เป้าหมายของโครงการให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวต่อว่า ที่รพ.ศูนย์อุดรยังมีการพัฒนาเป็นสมาร์ทอีอาร์(Smart ER )คัดกรองอธิบายเกณฑ์ฉุกเฉินแจ้งผู้ป่วยและญาติผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ อย่างไรก็ตามในปีงบ 2563 ตั้งงบเสริมเพิ่มให้กับผู้ป่วยที่เจ็บป่วยฉุกเฉินไม่รุนแรง แต่มารับบริการนอกเวลา 150 บาทต่อหัวประชากร/ครั้ง รวม 158 ล้านบาท หรือ คิดเป็น การให้บริการรวม 1,050,000 ครั้ง ซึ่งการเบิกจ่ายจะครอบคลุมในรพ.ศูนย์ นำร่องทั่วประเทศ 21 แห่ง และโรงพยาบาลศูนย์อุดรธานีก็เป็นหนึ่งในโรงพยาบาลศูนย์ 21 แห่งนำร่องพัฒนาห้องฉุกเฉิน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงบ่าย นพ.ศักดิ์ชัย เลขาธิการ สปสช.และผู้บริหารสปสช.เขต 8 อุดรธานี และคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ ร้านยาสมศักดิ์เภสัช บ้านห้วย ซึ่งมีนางสนาน วุฒิเสน อายุ82 ปี ป่วยเป็นโรคความดัน จากเดิมต้องมารับยา ที่โรงพยาบาลศูนย์อุดรธานีโดย นางสนานบอกว่า ดีใจมาก ที่มีโครงการนี้ ให้มารับยาร้านยาใกล้บ้าน ประทับใจร้านยาช่วยอธิบายให้เข้าใจ ดีมาก