เมื่อ เวลา 11.30 น.วันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 ที่สำนักงานเลขาธิการทันตแพทยสภา กระทรวงสาธารณสุข ทันตแพทยสภา จัดสัมมนาหัวข้อ “Clear Aligner ถูกวิชาการ ถูกกฎหมาย และถูกใจผู้บริโภค ต้องทำอย่างไร” โดยมี ผศ.ทพ.สุชิต พูลทอง นายกทันตแพทยสภา เป็นประธาน และมีผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วม ประกอบด้วย ทพ.ธงชัย วชิรโรจน์ไพศาล อุปนายกทันตแพทยสภา ทพญ.เรืองรัตน์ โกมลภิส นายกสมาคมทันตแพทย์จัดฟันแห่งประเทศไทย ภก.วราวุธ เสริมสินสิริ ผู้อำนวยการกองควบคุมเครื่องแพทย์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ทพ.วัฒนะ ศรีวัฒนา อนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค นอกจากนี้ ยังมีตัวแทนผู้ประกอบการจำหน่าย ผลิตเครื่องมือจัดฟันใส จำนวน 18 แห่ง เข้าร่วมสัมมนาครั้งนี้ และยัง ร่วมประชุมหารือเพื่อหาแนวทางการให้บริการจัดฟันใสเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคอีกด้วย
ผศ.ทพ.สุชิต กล่าวว่า การจัดฟันแบบใส หรือ Clear Aligner เป็นความก้าวล้ำของนวัตกรรมเพื่อความงามทางทันตกรรม ทำให้ปัจจุบันเกิดกระแสการจัดฟันที่ไม่มีลวดหรือเหล็กติดฟันเหมือนในอดีต ขณะนี้ การแก้ไขปัญหาฟันซ้อนเก ฟันเรียงตัวไม่สวยด้วยการจัดฟันใส เป็นที่นิยมและแพร่หลายมากขึ้น มีการใช้เทคโนโลยีการสแกนฟันในช่องปาก การใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ในการออกแบบการรักษาและติดตามการรักษา รวมทั้งมีการโฆษณา และใช้รูปแบบวิธีการในการดูแลผู้ป่วยที่หลากหลายของบริษัทผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์จัดฟันใส ทันตแพทยสภาจึงได้จัดประชุมผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องมือจัดฟัน กองควบคุมเครื่องมือแพทย์ อย. และตัวแทนผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม เพื่อให้ได้ข้อตกลงร่วมกันในการจัดการให้บริการจัดฟันใสเพื่อเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้บริโภค
นายกทันตแพทยสภา กล่าวว่า มีคำถามมากมายจากประชาชนสอบถามไปยังทันตแพทยสภา ทั้งเรื่อง จะสามารถเลือกรับบริการจัดฟันใสกับบริษัทต่างๆโดยตรงได้หรือไม่, ไปสแกนฟันกับเจ้าหน้าที่ของบริษัท, หรือสั่งซื้อชุดพิมพ์ฟันมาทำเองจะมีความปลอดภัยหรือไม่, และถ้าเกิดผลการรักษาไม่เป็นไปตามที่โปรแกรมคอมพิวเตอร์ออกแบบไว้ ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ เป็นต้น จากปัญหาที่เกิดขึ้น เนื่องจากไม่มีทันตแพทย์ดูแลรักษาตลอดขั้นตอนการรักษา
รวมทั้งประชาชนอาจต้องเสียค่าใช้จ่ายแล้ว ไม่ได้ผลการรักษาตามที่ตกลงกันไว้ เนื่องจากการจัดฟันใสเป็นการเคลื่อนฟันทีละน้อย สัปดาห์ละ 0.2 มิลลิเมตร ต้องอาศัยความแนบของผลิตภัณฑ์จัดฟันใสกับฟันในแต่ละชุด ต้องมีการตรวจติดตามประเมินผลจากทันตแพทย์เป็นระยะๆ รวมทั้งการใส่เครื่องมือคงสภาพฟันต่อเนื่องหลังจากรักษาเสร็จ นอกจากนี้ ยังมีการโฆษณาในโลกออนไลน์มากมายที่อาจสุ่มเสี่ยงเกินความเป็นจริง หรืออาจเข้าใจผิด คลาดเคลื่อนจากความจริง ทั้งอัตราค่าบริการจัดฟันใสมีราคาค่อนข้างสูง ทำให้ความคาดหวังของผู้บริโภคก็สูงตาม ส่งผลต่อการสุ่มเสี่ยงร้องเรียนในอนาคตได้
ผศ.ทพ.สุชิต กล่าวต่ออีกว่า จริงๆแล้วทันตแพทยสภามีหน้าที่ในการให้ความรู้และคำแนะนำด้านสุขภาพช่องปากที่ถูกต้องแก่ประชาชน จึงมีคำแนะนำที่ผู้บริโภคควรรู้ ก่อนตัดสินใจเข้ารับบริการจัดฟันแบบใสอยู่ 5 ข้อ ดังนี้
1.การแก้ไขปัญหาฟันซ้อนเก การสบฟันด้วยการจัดฟันใส เป็นการรักษาทางทันตกรรมที่ต้องมีทันตแพทย์ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรมให้การดูแลตั้งแต่การตรวจวินิจฉัย การสแกนฟัน การให้ข้อมูลแผนการรักษาและข้อจำกัดภาวะแทรกซ้อนของการรักษาที่อาจจะเกิดขึ้นกับผู้ป่วย ทันตแพทย์จะต้องติดตามผลการรักษาเป็นระยะๆ จนสิ้นสุดการรักษา รวมทั้งการใส่เครื่องมือคงสภาพฟัน ซึ่งจะต้องรับผิดชอบในการรักษาให้เป็นไปตามหลักวิชาการทางทันตกรรม
2.การสแกนฟันในช่องปาก ซึ่งเป็นขั้นตอนหนึ่งในการประกอบวิชาชีพทันตกรรม จะต้องดำเนินการโดยทันตแพทย์และทำในสถานพยาบาล คลินิกทันตกรรม หรือโรงพยาบาลที่ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งและดำเนินการจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) หรือ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) สธ.เท่านั้น
3.ปัจจุบันการผลิตหรือนำเข้าผลิตภัณฑ์จัดฟันใสซึ่งจัดเป็นเครื่องมือแพทย์ ต้องดำเนินการจดทะเบียนสถานที่ผลิตหรือนำเข้า และต้องจดแจ้งหรือแจ้งรายการละเอียดผลิตภัณฑ์จัดฟันใสก่อนการผลิตหรือนำเข้า ส่วนในการโฆษณาหรือการขายในช่องทางออนไลน์ต้องได้รับใบอนุญาตโฆษณาก่อน ทั้งนี้ บริษัทต้องระมัดระวังในการทำโฆษณาผลิตภัณฑ์จัดฟันใสให้เป็นไปตามระเบียบการโฆษณาเครื่องมือแพทย์ของ อย.อย่างเคร่งครัด
4.ทันตแพทย์ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรมต้องพึงระมัดระวังในการโฆษณาจัดฟันใสให้เป็นไปตามข้อบังคับจรรยาบรรณการโฆษณาของทันตแพทยสภา และข้อปฏิบัติการโฆษณาสถานพยาบาลของ สบส.
และ 5.ประชาชนที่ไปรับบริการจัดฟันใส ควรจะศึกษาข้อมูล ข้อดี ข้อจำกัดของผลิตภัณฑ์จัดฟันใสของแต่ละบริษัท และเมื่อเข้ารับการรักษา ให้ตรวจสอบว่าทันตแพทย์คนใดเป็นผู้ดูแลรักษา โดยที่ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลจากทันตแพทย์ในเรื่องค่าใช้จ่าย แผนการรักษา ข้อจำกัดของการเคลื่อนฟัน ผลดี และภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ รวมถึงระยะเวลาการรักษา เพื่อใช้เป็นข้อมูลก่อนการตัดสินใจที่จะรับการรักษา