เลขาฯสปสช.ลงพื้นที่ อ.ลี้ จ.ลำพูน เยี่ยมชมการจัดบริการเทเลเมดิซีนโดยหน่วยบริการปฐมภูมิ
เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2565 นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วย พญ.วลัยรัตน์ ไชยฟู รองผอ.สปสช.เขต 1 เชียงใหม่ พร้อมคณะผู้บริหาร เดินทางลงพื้นที่ อ.ลี้ จ.ลำพูน เพื่อเยี่ยมชมการจัดบริการปฐมภูมิ (PCC) และบริการเทเลเมดิซีนสำหรับการดูแลผู้ป่วยที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) แม่ตืน และ ศูนย์สุขภาพชุมชน โรงพยาบาลลี้ อ.ลี้ จ.ลำพูน โดยมี นายแพทย์เผ่าพงศ์ สุนทร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลลี้ เป็นแม่ข่าย นายรังสรรค์ วัชรกาวิน ผู้อำนวยการ รพ.สต.แม่ตืน และ น.ส.สิรินาถ คำใจหนัก พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ ประจำศูนย์สุขภาพชุมชน โรงพยาบาลลี้ ให้การต้อนรับและสรุปผลการดำเนินงาน
ทั้งนี้ รพ.สต.แม่ตืน เป็นแม่ข่ายของเครือข่ายบริการปฐมภูมิใน ต.แม่ตืน มีลูกข่ายอีก 2 รพ.สต. รวมประชากรทั้งเครือข่ายที่ต้องดูแลประมาณ 1.1 หมื่นคน ประชาการส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม มีปัญหาสุขภาพหลากหลาย ทั้งเจ็บป่วยทั่วไปที่ต้องพบแพทย์ อุบัติเหตุฉุกเฉิน เจ็บป่วยฉุกเฉิน ฯลฯ และเนื่องจากมีระยะทางห่างจากโรงพยาบาลอำเภอประมาณ 30 กม. ทำให้ประชาชนที่มีอาการเจ็บป่วยมีความลำบากในการเข้าถึงบริการเพราะต้องใช้เวลาเดินทางนาน
นายรังสรรค์ วัชรกาวิน ผู้อำนวยการ รพ.สต.แม่ตืน กล่าวว่า ด้วยปัจจัยเหล่านี้ รพ.สต.แม่ตืน จึงยกระดับเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิที่มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวอยู่ประจำ ทำให้เวลาเจ็บป่วย ชาวบ้านจะมารับบริการที่นี่ก่อนเพราะมั่นใจว่ามีแพทย์อยู่ประจำ มียาและเครื่องมือที่พร้อมมากกว่า รพ.สต. ทั่วไป อีกทั้ง การมารับบริการที่นี่ใช้เวลารอคอยน้อยกว่าไปโรงพยาบาลด้วย โดยก่อนมีโรคโควิด-19 มีประชากรในพื้นที่มารับบริการที่นี่ถึง 84% แต่ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ตัวเลขลดลงเหลือประมาณ 65% แต่ก็ยังถือว่าสูงอยู่
นายรังสรรค์ กล่าวว่า นอกจากนี้การจัดบริการรักษาโรคทั่วไปแล้ว ที่นี่ยังมีคลินิกกายภาพบำบัดสัปดาห์ละ 1 วัน เพื่อรองรับกลุ่มคนไข้สูงอายุ คนพิการ หรือผู้ที่จำเป็นต้องทำกายภาพบำบัด ซึ่งได้รับผลตอบรับที่ดีมาก การเปิดคลินิกแต่ละครั้งมีผู้มารับบริการเต็มจำนวนที่สามารถรับได้และยังมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นอีก เนื่องจากผู้ป่วยและญาติมีความสะดวกในการเดินทางมารับบริการมากกว่าไปโรงพยาบาลลี้ ประหยัดเวลาและค่าเดินทาง สามารถนำเวลาที่เหลือไปประกอบอาชีพได้
นอกจากนี้ รพ.สต.แม่ตืน ยังอยู่ในระยะการทดลองจัดบริการดูแลผู้ป่วยแบบเทเลเมดิซีน โดยนำแพลตฟอร์มเทเลเมดิซีนจากโรงพยาบาลน่านมาใช้ เบื้องต้นเน้นให้บริการกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังก่อน โดยขณะนี้มีผู้ป่วยรับบริการในระบบนี้ประมาณ 5-6 ราย
สำหรับขั้นตอนการรับบริการนั้น รพ.สต.แม่ตืนจะจัดบริการเทเลเมดิซีนทุกๆวันพุธช่วงบ่ายของแต่ละสัปดาห์ โดยมีการนัดคิวผู้ป่วยก่อนว่าแต่ละรายจะเข้าสู่ระบบเวลาไหน เมื่อเข้าสู่ระบบแล้ว พยาบาลจะซักประวัติก่อนส่งต่อให้แพทย์ทำการตรวจวินิจฉัย เมื่อตรวจเสร็จ แพทย์จะออกใบสั่งยา หากผู้ป่วยอยู่ในพื้นที่ รพ.สต.ลูกข่าย ก็จะจัดส่งยาไปยัง รพ.สต.นั้นๆ แล้วให้ อสม.มารับยาไปส่งให้ผู้ป่วยที่บ้าน
อย่างไรก็ตาม โดยรวมแล้วยังมีปัญหาตรงที่โครงสร้างของ รพ.สต.แม่ตืน เป็น รพ.สต.ขนาดเล็ก ทำให้มีข้อจำกัดด้านกรอบอัตรากำลังและไม่สามารถเพิ่มบุคลากรได้ อีกทั้งไม่มีกรอบอัตราของนักกายภาพบำบัด ต้องอาศัยกายภาพบำบัดจากโรงพยาบาลลี้มาให้บริการ ขณะที่ปัญหาในการให้บริการเทเลเมดิซีนคือผู้ป่วยที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ไม่มีสมาร์ทโฟน ไม่มีบริการอินเทอร์เน็ต ต้องอาศัยบุตรหลานช่วยเชื่อมต่อเข้าระบบให้ และถ้าเป็นพื้นที่ห่างไกลจริงๆก็จะไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ ทำให้ไม่สามารถรับบริการได้
ทั้งนี้ หลังจากเยี่ยมชมการจัดบริการที่ รพ.สต.แม่ตืนแล้ว นพ.จเด็จ พร้อมคณะ ได้เดินทางไปเยี่ยมชมการจัดบริการที่ศูนย์สุขภาพชุมชน โรงพยาบาลลี้ ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่ 3 เทศบาล 13 หมู่บ้าน รวมประชากรประมาณ 1.2 หมื่นคน ลักษณะพื้นที่มีทั้งชุมชนเมือง ชุมชนกึ่งเมืองกึ่งชนบท และชุมชนชนบท
โดยมรน.ส.สิรินาถ คำใจหนัก พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ ประจำศูนย์สุขภาพชุมชน โรงพยาบาลลี้ กล่าวว่า ศูนย์สุขภาพชุมชน โรงพยาบาลลี้ มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวประจำเต็มเวลา จัดบริการส่งเสริม ป้องกัน รักษา ฟื้นฟู บริการแพทย์แผนไทย เหมือน รพ.สต. ทั่วไป เฉลี่ยผู้มารับบริการประมาณ 60 ราย/วัน นอกจากนี้ยังมีการจัดคลินิกพิเศษ เช่น คลินิกทันตกรรม คลินิกอนามัยแม่และเด็ก คลินิกเบาหวาน-ความดันโลหิต คลินิกเด็กดี บริการวางแผนครอบครัว งานอนามัยโรงเรียนและการออกเยี่ยมบ้าน
ศูนย์สุขภาพชุมชน โรงพยาบาลลี้ เป็นอีกหนึ่งหน่วยบริการที่มีการจัดบริการเทเลเมดิซีนทุกบ่ายวันพุธที่ 1 และ 3 ของเดือน โดยเริ่มให้บริการในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 เพื่อลดความแออัด เบื้องต้นให้บริการในกลุ่มผู้ป่วยเบาหวานก่อน
“ในช่วงแรกเราจัดบริการผ่านแอปพลิเคชันไลน์ แต่ตอนนี้เราเพิ่งนำแพลตฟอร์มเทเลเมดิซีนของโรงพยาบาลน่านมาใช้ โดยเป็นผู้ป่วยที่ใช้บริการผ่านแอปฯไลน์ 28 คน และอีก 1 คนอยู่ระหว่างการฝึกหัดใช้แพลตฟอร์มของโรงพยาบาลน่าน ซึ่งต่อไปก็จะนำไปใช้กับผู้ป่วยรายอื่นๆด้วย ส่วนขั้นตอนการรับบริการ เริ่มตั้งแต่การคัดกรอง เราจะเลือกผู้ป่วยเบาหวานที่สามารถควบคุมอาการโรคได้ดี มีอินเทอร์เน็ตใช้ และสมัครใจเข้าร่วมโครงการ เมื่อสมัครเข้าร่วมแล้วพยาบาลก็จะนัดวันเวลาพบแพทย์ ก่อนวันนัด 1 วัน จะมีการโทรยืนยันรวมทั้งให้ อสม. ไปวัดความดัน วัดระดับน้ำตาลในเลือด ซักถามอาการต่างๆ แล้วส่งข้อมูลเข้าระบบ จากนั้นแพทย์จะตรวจรักษาและสั่งยา เภสัชกรจัดยาแล้วให้ อสม. เอายาไปส่งให้คนไข้ถึงบ้าน”น.ส.สิรินาถ กล่าว
น.ส.สิรินาถ กล่าวอีกว่า ส่วนใหญ่ผู้ป่วยที่รับบริการแบบเทเลเมดิซีนจะเป็นผู้สูงอายุ รวมทั้งผู้ป่วยในบางหมู่บ้านที่อยู่ห่างไกลออกไป รวมทั้งบางคนที่ติดภาระงานต้องเร่งเก็บเกี่ยวข้าวโพดและลำใยให้ทันฤดูกาลเพื่อให้ได้ราคาดีก็เลือกรับบริการแบบเทเลเมดิซีนด้วย ซึ่งผลการให้บริการพบว่าผู้ป่วยมีความพึงพอใจ 100% เพราะสะดวก ประหยัดเวลา ไม่ต้องมารอคิวตั้งแต่เช้า
“ต่อไปเราวางแผนขยายบริการเทเลเมดิซีนไปยังกลุ่มผู้ป่วยโรคความดันโลหิตและผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง แต่ในการดำเนินงานก็ยังมีปัญหาอยู่บ้างที่ผู้สูงอายุ ใช้โทรศัพท์สมาร์ทโฟนไม่เป็น ต้องให้ อสม. หรือญาติช่วยทำให้”น.ส.สิรินาถ กล่าว
ทั้งนี้นอกจากการนำระบบเทเลเมดิซีนมาใช้ในระบบบริการปฐมภูมิแล้ว โรงพยาบาลลี้ยังใช้ระบบเทเลเมดิซีนในการดูแลผู้ป่วยบนรถพยาบาลระหว่างส่งต่อด้วย
ด้านนายแพทย์เผ่าพงศ์ สุนทร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลลี้ กล่าวว่า โรงพยาบาลลี้เริ่มนำระบบเทเลเมดิซีนมาติดตั้งและนำมาใช้ในระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน รถพยาบาลกู้ชีพขั้นสูง หรือ รถ EMS Advanced เมื่อเดือน มี.ค. 2564 จำนวน 1 คัน และรถส่งต่อผู้ป่วยในเดือน ต.ค. 2565 อีก 1 คัน ซึ่งในรถจะมีเครื่องมือที่ทันสมัย เช่น เครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เครื่องกระตุกหัวใจ จอ LCD ที่ให้แพทย์เห็นภาพคนไข้และผู้ปฏิบัติงานในรถ และระบบเสียงที่พูดคุยได้เลยโดยไม่ต้องถือโทรศัพท์ ซึ่งมีข้อดีคือแพทย์สามารถดูสัญญาณชีพต่างๆ และวินิจฉัยสั่งการรักษาได้โดยตรงและเร็วขึ้น จากเดิมที่ต้องสื่อสารกับเจ้าหน้าที่บนรถโดยไม่เห็นคนไข้และการสั่งการรักษาก็ทำตามคำรายงานเท่านั้น เช่นเดียวกับกรณีผู้ป่วยส่งต่อ หากผู้ป่วยมีอาการเปลี่ยนแปลงระหว่างเดินทางก็สามารถสั่งการรักษาได้ทันท่วงที
นายแพทย์เผ่าพงศ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลลี้ กล่าวต่อว่า ในปี 2565 นี้ มีผู้ป่วยที่รับบริการ EMS จำนวน 35 ราย และผู้ป่วยส่งต่ออีก 44 ราย ส่วนปัญหาและอุปสรรคคือเรื่องสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่ไม่เสถียรและบางพื้นที่ไม่มีสัญญาณ รวมทั้งเรื่องจากมีรถส่งต่อที่ติดตั้งระบบเทเลเมดิซีนเพียงคันเดียว ผู้ป่วยส่งต่อจึงไม่ได้รับบริการทุกคน ต้องเลือกคนที่มีอาการรุนแรงจริงๆ เช่น ผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน คนไข้บาดเจ็บรุนแรงต่างๆ เพราะหากผู้ป่วยมีอาการเปลี่ยนแปลงแพทย์จะได้สั่งการรักษาได้ทัน ซึ่งหากเป็นไปได้อยากให้กระทรวงสาธารณสุขหรือ สปสช. สนับสนุนงบประมาณเพื่อติดตั้งระบบในรถส่งต่อให้มากขึ้น
ด้าน นพ.จเด็จ เลขาธิการ สปสช.กล่าวว่า จุดยืนของ สปสช. สนับสนุนให้หน่วยบริการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาให้บริการเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการได้มากขึ้นอยู่แล้ว ซึ่งต้องชื่นชม รพ.สต.แม่ตืน และศูนย์สุขภาพชุมชน โรงพยาบาลลี้ ที่นำระบบเหล่านี้มาให้บริการ เพราะปกติแล้วบริการเทเลเมดิซีนมักจะจัดทำโดยโรงพยาบาลระดับตติยภูมิเพื่อลดความแออัด ลดการเดินทางและเวลารอคอย แต่ที่นี่เป็นการจัดบริการโดยหน่วยบริการปฐมภูมิ ซึ่งโดยธรรมชาติจะอยู่ในชุมชน อยู่ใกล้บ้าน แต่ก็ยังมีประชาชนบางกลุ่มที่ไม่สะดวกมารับบริการ อีกทั้งไม่ว่าจะอาศัยอยู่ห่างไกลมากๆ เป็นผู้ป่วยที่มีข้อจำกัดในการเดินทาง หรือแม้แต่ติดภารกิจการทำงานไม่สะดวกมาที่หน่วยบริการ การจัดบริการเทเลเมดิซีนของหน่วยบริการปฐมภูมิ สะท้อนว่ายึดถือผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางและจัดบริการที่หลากหลายเพิ่มทางเลือกให้ประชาชนในพื้นที่สามารถเข้าถึงบริการ ตามความสะดวกและความจำเป็นของแต่ละคนได้มากขึ้น
จากนั้น นพ.จเด็จและคณะเดินทางไปเยี่ยมบ้าน นางอรทัย อนุกุล 69/4 ม.12 บ้านใหม่ศิวิไล ตำบลลี้ อำเภอลี้ จ.ลำพูน ซึ่งป่วยเป็นโรคเบาหวานที่มีภาวะแทรกซ้อน ซึ่งได้พูดคุยกับหมอโดยผ่านบริการเทเลเมดิซีน ก่อนที่จะพาตัวมาศูนย์สุขภาพชุมชนรพ.ลี้(PCU.ลี้)เพื่อพบแพทย์ประจำ PCU ลี้ ในการวินิฉัยโรคเพื่อสั่งรักษา รวมทั้งระบบการเรียกรถฉุกเฉินส่งต่อมารพ.ซึ่งมีการติดตั้งระบบเทเลเมดิซีนด้วยเช่นกัน เมื่อผู้ป่วยมีอาการส่งต่อได้ทัน เพราะหากผู้ป่วยมีอาการเปลี่ยนแปลงแพทย์จะได้สั่งการรักษาได้ทันท่วงที