ทพ.อรรถพร รองเลขาธิการ สปสช. พร้อม กรรมการทันตแพทย์สภา ลงพื้นที่บ้านป่าคา ใจกลางอุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้า เยี่ยมชมการจัดบริการทันตกรรมป้องกันของรพ.โกสัมพีนคร และรพ.คลองลาน จ.กำแพงเพชร เพิ่มการเข้าถึงบริการตามสิทธิที่เด็กนักเรียน-ประชาชนควรได้รับแม้อยู่พื้นที่ทุรกันดาร
เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2565 ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อม ทพ.วิวัฒน์ ฉัตรวงศ์วา กรรมการทันตแพทยสภาวาระที่ 10 และนส.บุษกร สุรรังสรรค์ รองผู้อำนวยการรักษาการผู้อำนวยการ สปสช.เขต3 นครสวรรค์ ลงพื้นที่โรงเรียนบ้านคลองมดแดง สาขาป่าคา อ.คลองลาน จ.กำแพงเพชร เพื่อเยี่ยมชมการจัดบริการทันตกรรมป้องกันในเด็กนักเรียนในพื้นที่ทุรกันดารของโรงพยาบาลโกสัมพีนคร ซึ่งมีทั้งการตรวจฟัน และทาฟลูออไรด์แก่เด็กเล็ก การตรวจฟัน อุดฟัน ถอนฟัน ทาฟลูออไรด์ เคลือบหลุมร่องฟัน และให้ความรู้ด้านสุขภาพช่องปาก แก่เด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษา เป็นต้น

โดยมีนพ.ธเนศ สุขภิรมย์ ผอ.รพ.โกสัมพีนคร พร้อม ทญ กฤษณี เฮงตระกูลเวนิช ทพ.สสจ.กำแพงเพชร หัวหน้ากลุ่มงานทันตกรรม รพ คลองลาน และ ทพ.กิติศักดิ์ วาทโยธา ทันตแพทย์ชำนาญการพิเศษ โรงพยาบาลโกสัมพีนคร พาเยี่ยมชมการออกหน่วยให้บริการทันตกรรมที่โรงเรียนบ้านคลองมดแดง สาขาป่าคา อ.คลองลาน จ.กำแพงเพชร ซึ่งมีนักเรียนระดับประถมศึกษาประมาณเกือบ 200 คนครู 7 คน
ทั้งนี้ หมู่บ้านป่า ประชาชนส่วนใหญ่เป็นชาวเขาเผ่าม้ง และปกากะญอ(กระเหรีายง) ตั้งอยู่ใจกลางเขตอุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้า แม้เขตการปกครองจะอยู่ในพื้นที่ อ.คลองลาน ก็ตาม แต่เนื่องจากเส้นทางที่รถยนต์สามารถเข้าถึงได้อยู่ฝั่งทางเข้าเขตอุทยานฯ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ อ.โกสัมพีนคร จึงมีการตัดพื้นที่นี้ให้โรงพยาบาลโกสัมพีนครรับผิดชอบดูแล
ทพ.อรรถพร รองเลขาธิการ สปสช.กล่าวว่า บริการทันตกรรม เป็นหนึ่งในสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง ที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องให้ครอบคลุมบริการที่จำเป็นในทุกกลุ่มวัย ทั้งกลุ่มเด็กเล็ก กลุ่มเด็กโตและวัยรุ่น กลุ่มผู้ใหญ่ ไปจนถึงกลุ่มผู้สูงอายุ และนอกจากบริการรักษาทันตกรรม ไม่ว่าจะเป็นการขูดหินปูน การอุดฟัน หรือการถอนฟันแล้ว สิทธิบัตรทองยังครอบคลุมบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคด้านทันตกรรมด้วย โดย สปสช. ได้จัดเป็นสิทธิประโยชน์กลุ่มวัยต่างตามความจำเป็นที่ต้องได้รับบริการ เช่น กลุ่มเด็กอายุ 0-5 ปี จะได้รับบริการตรวจสุขภาพช่องปาก และการเคลือบฟลูออไรด์ ทาฟลูออไรด์ กลุ่มเด็กโตและวัยรุ่นอายุ 6-24 ปี ได้รับบริการการเคลือบหลุมร่องฟันสำหรับฟันกรามถาวรซี่ที่ 6, 7, 4 และ 5 หรือ กลุ่มหญิงตั้งครรภ์จะมีบริการขัดและทำความสะอาดฟัน ในช่วงฝากครรภ์ ครั้งที่ 1 หรือ 2 เป็นต้น
“แม้จะมีสิทธิ แต่ด้วยปัญหาในการเดินทางก็ทำให้ประชาชนในบางพื้นที่เข้าถึงบริการลำบาก อย่างพื้นที่บ้านป่าคาและหมู่บ้านใกล้เคียง การจะออกไปรับบริการที่โรงพยาบาลเป็นเรื่องลำบาก โดยเฉพาะบริการส่งเสริมป้องกันโรคและบริการทันตกรรมป้องกันแทบไม่ต้องพูดถึง เพราะต้องเดินทางหลายชั่วโมง ยิ่งถ้าเป็นหน้าฝน มีความอันตราย ทำให้ถ้าไม่เจ็บป่วยรุนแรงจริงๆ ก็จะไม่มาโรงพยาบาล การจัดทีมออกไปให้บริการถึงในพื้นที่ ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการได้มากขึ้น ขอชื่นชมและขอบคุณทีมงานของโรงพยาบาลโกสัมพีนครที่ให้ความสำคัญ และพยายามจัดบริการให้คนกลุ่มนี้เข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพตามที่ควรจะได้รับ”ทพ.อรรถพร กล่าว

ด้าน นพ.ธเนศ สุขภิรมย์ ผอ.รพ.โกสัมพีนครและ ทพ.กิติศักดิ์ วาทโยธา ทันตแพทย์ชำนาญการพิเศษ โรงพยาบาลโกสัมพีนคร กล่าวว่า หมู่บ้านป่าคา เป็นหมู่บ้านที่อยู่ชั้นในของเขตอุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้า เส้นทางทุรกันดาร ถนนดินลูกรัง ไม่ได้มาตรฐานเหมือนถนนทั่วไป การเดินมางต้องข้ามเขาหลายลูกในช่วงก่อนโควิด-19 หน่วยทันตกรรมพยายามขึ้นมาให้บริการเป็นประจำ เช่น ร่วมทีมไปกับทีมงานปฐมภูมิที่มาให้บริการส่งเสริมป้องกันสุขภาพ อาทิ การฝากครรภ์ ฉีดวัคซีน หรือการดูแลสุขภาพอื่นๆ ทีมทันตกรรมก็จะติดสอยห้อยตามไปด้วย บางครั้งหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ พอ.สว. จากส่วนกลางเดินทางมา ก็จะติดตามมาร่วมให้บริการด้วย หรือแม้ว่าจะไม่มีกิจกรรมอะไร หน่วยทันตกรรมก็จะพยายามเดินทางมาให้บริการเช่นกัน เฉลี่ยแล้วประมาณปีละ 3-4 ครั้ง
“การเดินทางมาจัดบริการครั้งหนึ่งใช้เวลา 1-2 วัน ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของสถานการณ์ เพราะจะไปถึง เดินทางกัน 2.30 ชั่วโมง กว่าจะเตรียมอุปกรณ์ กว่าจะได้ให้บริการ ไม่กี่ชั่วโมงก็ต้องกลับเพราะจะมืดกลางทาง บางครั้งเราก็นอนกลางป่าแล้วกลับอีกวัน ยิ่งช่วงฤดูฝนแทบขึ้นมาไม่ได้เพราะมีทั้งดินสไลด์ ถนนเละเป็นโคลน อันตรายในการเดินทาง แต่ช่วงโควิด-19 ระบาด ด้วยความเชื่อบางอย่าง ชุมชนก็ปิดไม่ให้คนนอกเข้าพื้นที่ได้ แพทย์และวิชาชีพต่างๆ เข้าหมู่บ้านไม่ได้เลย เราจึงห่างหายไปพักใหญ่ๆ จนสถานการณ์เบาลงถึงได้เริ่มกลับมาให้บริการอีก”ทพ.กิติศักดิ์ กล่าว
ทพ.กิติศักดิ์ กล่าวต่ออีกว่า การจัดบริการแต่ละครั้งจะพยายามจัดบริการให้ได้มากที่สุด ทุกอย่างที่พอจะทำได้ เช่น เคลือบร่องหลุมฟัน จนกว่าอุปกรณ์ที่เตรียมมาด้วยจะหมด หรือบางบริการ เช่น ทาฟลูออไรด์ ทันตาภิบาลที่ประจำ รพ.สต. ในพื้นที่สามารถให้บริการได้ โรงพยาบาลก็จะเตรียมฟลูออไรด์ไว้ให้ ทำให้ รพ.สต. จัดบริการได้เรื่อยๆ บางครั้งชาวบ้านก็เดินทางมาที่โรงพยาบาล เช่น การฝากครรภ์อย่างน้อยต้องมาฝากครรภ์ที่โรงพยาบาล 1-2 ครั้ง พอฝากครรภ์เสร็จก็ดูแลสุขภาพช่องปากให้ด้วย
“งานทันตกรรมป้องกัน ถือเป็นด่านแรก แม้จะรักษาได้แต่ป้องกันไว้จะดีกว่า อย่างเด็กๆในพื้นที่เหล่านี้เดินทางมาหาเราที่โรงพยาบาลลำบาก กว่าจะมาถึงฟันก็ผุไปเยอะแล้ว ดังนั้น ถ้าให้หมอเดินทางขึ้นไปป้องกันไม่ให้ฟันผุ กับรอให้ฟันผุแล้วค่อยให้เดินทางมาหาหมอ การส่งเสริมป้องกันน่าจะให้ผลได้ดีกว่า”ทพ.กิติศักดิ์ กล่าว
จากนั้นได้เดินทางไปยังศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านป่าคามีเด็กประมาณ 70 คนอยู่ห่างไกลพื้นที่ทุรกันดาร ตั้งอยู่ที่บ้านป่าคา ตำบลโป่งน้ำร้อน อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร โดยชาวบ้านและเด็กในพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นชนเผ่า มีรพ.สต.บ้านป่าคา รพ.โกสัมพีนคร และรพ.คลองลาน ดูแลด้านบริการสาธารณสุขบริการทันตกรรมส่งเสริมป้องกัน เด็กวัยเรียน