วีกรีน คณะสิ่งแวดล้อม ม.เกษตรฯ จับมือ สมอ. และ บพข. ร่วมผลักดันนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียน สู่การปฏิบัติจริงของภาคเอกชน นำร่องแล้ว 32 บริษัท

0

วันที่ 7 ธันวาคม 2565 ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้มีพิธีลงนามความร่วมมือทางวิชาการระหว่าง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กับ 32 บริษัทนำร่องด้านมาตรฐานระบบการจัดการเศรษฐกิจหมุนเวียนองค์กร (Circular Economy Management System for the Organization) มุ่งเป้าพัฒนาระบบการตรวจสอบและรับรองระบบการจัดการเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับองค์กร

ตอบโจทย์เป้าหมาย SDG 9, 12, 13 และ 17 โดยได้รับการสนันสนุนทุนจาก บพข. ภายใต้การดำเนินโครงการวิจัย เรื่อง “การพัฒนาระบบการตรวจสอบและรับรองระบบการจัดการเศรษฐกิจหมุนเวียนองค์กรเพื่อผลักดันนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียน” โดยมี รศ. ดร.รัตนาวรรณ มั่งคั่ง ผู้อำนวยการศูนย์วีกรีน คณะสิ่งแวดล้อม มก. เป็นหัวหน้าโครงการฯ

ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีลงนาม ร่วมกับ นายวีระศักดิ์ เพ้งหล้ง ผู้อำนวยการสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม (สมอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม โอกาสนี้ รศ. ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ รองผู้อำนวยการ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ได้กล่าวบรรยายเรื่อง บพข.กับการสนับสนุนโครงการวิจัยด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน ด้วย

ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ขอแสดงความยินดีกับ 32 บริษัทนำร่อง ที่ผ่านการคัดเลือกรอบสุดท้ายให้เข้าร่วมโครงการ มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งในการลงนามความร่วมมือทางวิชาการด้านระบบการจัดการเศรษฐกิจหมุนเวียนองค์กร (Circular Economy Management System for the Organization) ระหว่าง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กับ 32 บริษัทนำร่อง และขออวยพรให้การดำเนินงานในโครงการประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย เพื่อทำให้ประเทศไทยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ก้าวสู่ความเป็นผู้นำด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนในระดับภูมิภาคและสากลต่อไป
.
สำหรับที่มาของความร่วมมือทางวิชาการกับ32 บริษัทนำร่องด้านมาตรฐานระบบการจัดการเศรษฐกิจหมุนเวียนองค์กร นั้น รศ. ดร.รัตนาวรรณ มั่งคั่ง ผู้อำนวยการศูนย์วีกรีน คณะสิ่งแวดล้อม มก. กล่าวว่า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดย วีกรีน คณะสิ่งแวดล้อม ได้มีความร่วมมือทางวิชาการกับ สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม (สมอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม ในการดำเนินโครงการวิจัย บพข. เรื่อง “การพัฒนาระบบการตรวจสอบและรับรองระบบการจัดการเศรษฐกิจหมุนเวียนองค์กรเพื่อผลักดันนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียน” ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อผลักดันและขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียนระดับชาติสู่การประยุกต์ใช้จริงอย่างเป็นรูปธรรม โดยพัฒนาระบบการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานระบบการจัดการเศรษฐกิจหมุนเวียนของประเทศไทยให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล เป็นประเทศแรกในภูมิภาคอาเซียน
.
ในการดำเนินโครงการดังกล่าว ได้มีการคัดเลือกบริษัทนำร่อง จำนวน 32 บริษัท เข้าร่วมโครงการ คู่ขนานไปกับ การพัฒนาศักยภาพที่ปรึกษา เพื่อให้คำปรึกษาทางเทคนิคในการดำเนินงานตามข้อกำหนดของมาตรฐานระดับชาติ ว่าด้วยเรื่องระบบการจัดการเศรษฐกิจหมุนเวียนองค์กร (มตช. 2 เล่ม 2) ตลอดจน ขอรับการตรวจประเมินเพื่อขอรับการรับรอง เป็นกลุ่มแรกในประเทศไทย อันเป็นการสนับสนุนให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ในแผนปฏิบัติการด้านการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG มี GDP ที่เพิ่มขึ้นจากการส่งสินค้าไปต่างประเทศได้มากขึ้น เนื่องจากเกิดการยอมรับและเชื่อมั่นในองค์กรผู้ผลิตสินค้าซึ่งได้รับการรับรอง ภายใต้เศรษฐกิจ BCG ให้สามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืน.

มาตรฐานระบบการจัดการเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับองค์กร ระดับชาติ พัฒนาโดย สมอ. เพื่อเป็นกลไกสำคัญหลักอย่างหนึ่งที่จะช่วยสนับสนุนให้องค์กรและผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องใช้เป็นแนวทางปฏิบัติสำหรับการจัดทำระบบการจัดการเศรษฐกิจหมุนเวียนในองค์กร นำไปสู่การดำเนินการด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างเป็นรูปธรรม อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง อันเป็นสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขันของไทย
.
ผลกระทบสำคัญของโครงการ บพข. ในภาพรวม
ผู้ประกอบการอุตสาหกรรม (FACTORIES) อย่างน้อย 32 บริษัท ใน 6 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ เกษตรอาหาร วัสดุก่อสร้าง พลาสติก บรรจุภัณพ์ แฟชั่นไลฟสไตล์ และพลังงานหมุนเวียน ได้รับการรับรองตามมาตรฐานระบบการจัดการเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับองค์กรที่ปรึกษา (CONSULTANTS) อย่างน้อย 39 คน มีความสามารถในการให้คำปรึกษาทางเทคนิคเกี่ยวกับการดำเนินการตามระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน หน่วยรับรอง (CB: Certification Bodies) อย่างน้อย 3 หน่วย สามารถให้บริการรับรองในสาขาระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับองค์กร ตามมาตรฐาน ผู้ตรวจประเมิน (AUDITORS) อย่างน้อย 25 คน สามารถให้บริการรับรองในสาขาระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับองค์กร ในภาพรวม เป็นการสร้างกำลังคน (MANPOWER) ของประเทศไทยให้ได้รับการพัฒนาทักษะใหม่ ด้านระบบการจัดการเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับองค์กร อย่างน้อย 500 คน

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : รศ. ดร.รัตนาวรรณ มั่งคั่ง (tamvgreenku@gmail.com; 082-245-5141)