จักษุแพทย์อุดรธานีจัดหน่วยเคลื่อนที่คัดกรองเด็กที่มีภาวะสายตาผิดปกติเชิงรุก หลังสปสช.เพิ่มสิทธิประโยชน์แว่นสายตาเด็กที่มีภาวะสายตาผิดปกติ มอบเป็นของขวัญเด็กปี 66
เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2566 ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. พร้อมด้วย ทพ.กวี วีระเศรษฐกุล ผู้อำนวยการ สปสช.เขต 8 อุดรธานี คณะบุคลากร สปสช. และ คณะสื่อมวลชน ลงพื้นที่อำเภอนายูง จังหวัดอุดรธานี สร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์การแก้ไขปัญหาเด็กที่มีภาวะสายตาผิดปกติ หลังสปสช. เพิ่มการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ พร้อมมอบแว่นสายตาแก้ไขปัญหาในเด็กปฐมวัยและเด็กวัยเรียนอายุ 3-12 ปี หรือเด็กอนุบาล 1 ถึงประถมศึกษา 6 ที่มีภาวะสายตาผิดปกติ โดยร่วมกับ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี จักษุแพทย์โรงพยาบาลอุดรธานีซึ่งเป็นหน่วยตรวจตา ( Refraction Unit ) สาธารณสุขอำเภอนายูง โรงพยาบาลนายูง ครูและเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประกอบด้วย เทศบาลตำบลนายูง เทศบาลตำบลโนนทอง องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านก้อง องค์การบริหารส่วนตำบลนาแค ตรวจคัดกรอง ตรวจวินิจฉัย วัดค่าสายตา

นายแพทย์พิชชา พนาวัฒนวงศ์ จักษุแพทย์โรงพยาบาลอุดรธานี กล่าวว่า สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี ได้มอบให้ รพ.อุดรธานีลงพื้นที่จัดบริการคัดกรองเชิงรุก โดยมีหน่วยวัดสายตานำทีมโดยจักษุแพทย์ ร่วมกับครูและเจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาลชุมชน ที่ผ่านสอนการคัดกรองเบื้องต้นและตรวจวัดสายตาที่ผิดปกติให้กับเด็กนักเรียน ลงพื้นที่คัดกรองและตรวจวัดสายตาในพื้นที่อำเภอนายูง จังหวัดอุดรธานี ซึ่งมีโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ 22 แห่ง เป้าหมาย 2,159 ราย ตรวจสายตาเบื้องต้นโดยครูและเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล จำนวน 2,140 ราย คิดเป็นร้อยละ 98.59 พบผิดปกติ 176 ราย คิดเป็นร้อยละ 8.15 ส่งตรวจพบจักษุแพทย์ 169 ราย พบผิดปกติ และได้รับแว่นตาจำนวน 155 ราย คิดเป็นร้อยละ 91.71
จากการประชุมรับฟังการนำเสนอผลการดำเนินงาน พบปัญหาและความต้องการ เครื่องตรวจคัดกรองสายตาที่ปัจจุบันไม่เพียงพอต่อการปฎิบัติงาน ยังขาดแคลนไม่รองรับการจัดบริการเคลื่อนที่ และ การประชาสัมพันธ์โครงการให้หน่วยงานที่เกี่บวข้องในพื้นที่มีส่วนร่วมจัดบริการ โดยเฉพาะ การขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น หรือ กองทุน กปท.
นายแพทย์พิชชา กล่าวว่า โครงการเด็กไทยสายตาดีที่ผ่านมาเมื่อคัดกรองแล้วต้องส่งเด็กที่มีสายตาผิดปกติเข้ามาที่โรงพยาบาลที่มีจักษุแพทย์เท่านั้น พบว่ามีเด็กได้รับการคัดกรองน้อยและมีบางส่วนที่สามารถเดินทางมาโรงพยาบาลที่มีจักษุแพทย์ได้ หลังสปสช.ปรับหลักเกณฑ์ให้โรงพยาบาลทุกแห่ง สามารถจัดหาทีมจักษุแพทย์ลงพื้นที่ให้บริการได้ จึงทำให้เด็กเข้าถึงบริการได้รับการแก้ไขปัญหาทางสายตาที่รวดเร็วและเพิ่มขึ้น จากการดำเนินงานคัดกรองสายตาเด็กนำร่องในอำเภอนายูง จังหวัดอุดรธานี จะมีการมอบแว่นตาเด็กในวันที่ 13 มกราคม 2566 ถือเป็นของขวัญวันเด็กแห่งชาติ

โดยในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี ปีงบประมาณ 2566 ได้วางแผนขยายพื้นที่เพิ่มเติมไปยังหน่วยบริการโรงพยาบาลวังสามหมอ โรงพยาบาลหนองวัวซอ โรงพยาบาลเพ็ญ โรงพยาบาลกุมภวาปี โรงพยาบาลหนองหาน โรงพยาบาลสมเด็จพยุพราชบ้านดุง และ โรงพยาบาลบ้านผือ
ด้านทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช.กล่าวว่า เด็กที่มีปัญหาสายตาเด็กผิดปกติส่งผลกระทบต่อพัฒนาภาพชีวิตและพัฒนาการเจริญเติบโตของเด็ก โดยเฉพาะพัฒนาการทางสติปัญญาและเรียนรู้ สปสช.เพิ่มบริการแก่เด็กไทยทุกคน ที่มีอายุ 3-12 ปี หรือเด็กอนุบาล 1 ถึงประถมศึกษา 6 คนละไม่เกิน 1 อันต่อปี ซึ่งหน่วยบริการจะให้บริการจะเป็นหน่วยบริการที่สามารถให้บริการแว่นตาสำหรับเด็กที่มีสายตาผิดปกติ โดยมีการให้บริการ ตรวจคัดกรองในเด็กนักเรียน ตรวจวินิจฉัย วัดค่าสายตา โดยจักษุแพทย์ นักทัศนมาตร หรือ พยาบาลเวชปฏิบัติทางสายตา และจะมีการติดตามหลังจากได้รับแว่นตาครบ 6 เดือน
อย่างไรก็ตาม กรณีที่ผู้ปกครองสังเกตหรือสงสัยเด็กมีสายผิดปกติ สามารถเข้ารับบริการตรวจคัดกรองและวินิจฉัยที่หน่วยบริการ (Walk-in) หากวินิจสายผิดปกติก็รับแว่นตาได้ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถให้การสนับสนุนการส่งต่อเด็กนักเรียนที่มีภาวะสายตาผิดปกติเพื่อเดินทางไปรับการตรวจยืนยัน การรับแว่นตา และการตรวจติดตาม โดยจัดทำโครงการในงบกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น หรือ กองทุน กปท.ได้
ทั้งนี้ คณะได้มอบแว่นตาเด็กในวันที่ 13 มกราคม 2566 ให้เป็นของขวัญวันเด็กแห่งชาติ ณ ที่ว่าการอำเภอนายูง จังหวัดอุดรธานี และ ลงพื้นที่เยี่ยมเด็กนักเรียนที่ได้รับมอบแว่นสายตา ได้แก่ เด็กหญิง ณัชชา ชัยนนท์ ป.1 โรงเรียนบ้านเพิ่ม ต.นาแค ต.นายูง จ.อุดรธานี และ เด็กหญิง วรรณิษา สีหานาค โรงเรียนชายแดนประชาสรร บ้านคีรีวงกต ต.นาแค ต.นายูง จ.อุดรธานี ซึ่งเด็กทั้งสองรายมีภาวะสายตาผิดปกติซึ่งเป็นปัญหาต่อการเรียนหนังสือด้วย