หมอจเด็จ เลขาฯสปสช. เยี่ยมชมระบบการดูแลผู้ป่วย รพ.น่าน “น่านโมเดล”

0

เลขาธิการ สปสช. เยี่ยมชมระบบการดูแลผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังและโมเดลป้องกันผู้สูงอายุพลัดตกหกล้มของโรงพยาบาลน่าน

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)  พร้อมด้วยทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ   รองเลขาธิการสปสช. และ พญ.วลัยรัตน์ ไชยฟู  ผอ.สปสช.เขต1 เชียงใหม่ และคณะสื่อมวลชน เดินทางลงพื้นที่ อ.เมืองน่าน จ.น่าน เพื่อเยี่ยมชมการการจัดระบบบริการตามนโยบาย VBHC เขตสุขภาพ ในประเด็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และการป้องกันพลัดตกหกล้ม ของโรงพยาบาลน่าน เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2566 ที่ผ่านมา

โดยมีนพ.วสันต์  แก้ววี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลน่าน  และนพ.วรินทร์เทพ  เชื้อสำราญ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดน่าน นพ.กนก พิพัฒน์เวช รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ โรงพยาบาลน่าน นพ.วรพงษ์ สุจริตพงษ์พันธ์ รองผู้อำนวยการด้านพัฒนาคุณภาพบริการและมาตราฐาน ให้การต้อนรับและได้นำคณะเยี่ยมชมการจัดบริการของโรงพยาบาลน่าน

นพ.กนก พิพัฒน์เวช รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ โรงพยาบาลน่าน กล่าวถึงการจัดบริการโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังและการจัดบริการของโรงพยาบาลน่าน ว่า ก่อนหน้านี้เคยมีการสำรวจความคิดเห็นของผู้รับบริการ พบว่ามีข้อจำกัด 2 ประเด็นหลักๆ คือ 1. มีการบริการหลายขั้นตอน และ 2. ระยะเวลารอคอยใช้เวลานาน เช่น การตรวจเอ็กซเรย์ปอดต้องพบแพทย์ ให้แพทย์มีคำสั่งก่อนแล้วค่อยมาเอ็กซเรย์ หรือการรอผลเลือดนาน ทำให้เสียเวลานั่งรอ เป็นต้น จึงมีการปรับแนวทางการให้บริการใหม่ให้กระชับขึ้น ทำให้สามารถลดระยะเวลารอคอยระหว่างคัดกรอง 2.1 ชม เหลือ 43.58 นาที และเวลาที่ผู้ป่วยได้รับการเอ็กซเรย์ปอดระหว่างรอคัดกรองพบแพทย์ลดลงจาก 4.51 ชั่วโมง เหลือ 2.1 ชั่วโมง

นพ.กนก กล่าวต่อว่า สำหรับแผนการดำเนินการ ปี 2566 ในการขับเคลื่อนเพื่อรองรับการปฏิรูปเขตสุขภาพนั้น จะมีการจัดระบบในเรื่องวินิจฉัยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังให้ถูกต้องทำให้การรักษาตามมาตรฐาน การพัฒนาคนและครุภัณฑ์เพื่อรองรับการให้บริการประชาชน ตลอดจนการจัดบริการสุขภาพแบบเน้นคุณค่า(value based health care) เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงในเรื่องยาขยายหลอดลมที่ออกฤทธิ์ยาวและเสนอปรับการเบิกจ่ายชดเชยของ สปสช. รวมทั้งการดำเนินคัดกรองกลุ่มเสี่ยงของโรคปอดกลุ่มกั้นเรื้อรังโดยการตรวจสมรรถภาพปอด ตามบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องก้นโรคที่่ต้องการเร่งรัดการเข้าถึงบริการตามปัญหาพื้นที่ระดับเขต/จังหวัด (PPA) ของ สปสช.

ด้าน นพ.วรพงษ์ สุจริตพงษ์พันธ์ รองผู้อำนวยการด้านพัฒนาคุณภาพบริการและมาตราฐาน กล่าวถึงแนวทางการป้องกันพลัดตกหกล้ม “น่านโมเดล” ว่า ในช่วงปี 2556—2560 จ.น่านมีอัตราการเสียชีวิตจากการพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุสูงเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ และผู้ป่วยกระดูกสะโพกหักในผู้สูงอายุมีแนวโน้มสูงขึ้นอยู่ในระดับวิกฤต จึงมีการพัฒนาระบบการเฝ้าระวังและป้องกันความเสี่ยงพลัดตกหกล้มกระดูกหักในผู้สูงอายุที่เป็นกลุ่มเสี่ยงเพื่อไม่ให้เกิดกระดูกหักรายใหม่และผู้ป่วยที่มีกระดูกหักเพื่อไม่ให้มีการหักซ้ำในจังหวัดน่าน (น่านโมเดล) โดยเน้น การบูรณาการความร่วมมือกันในสหสาขาวิชาชีพต่างๆและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดความเสี่ยงในการหกล้ม เช่นการปรับระบบงานภายในโรงพยาบาลน่านเพื่อให้สามารถผ่าตัดผู้ป่วยกระดูกสะโพกหักได้อย่างรวดเร็ว ( fsat track hip surgery) เพื่อให้ผู้ป่วยฟื้นตัวและสามารถกลับมาเดินได้และลดภาวะแทรกซ้อน ในส่วนของความร่วมมือภายนอก โดยมีการค้นหาและประเมินผู้สูงอายุกลุ่มเสี่ยง การติดตามการเยี่ยมบ้านอย่างสม่ำเสมอทุก 3 เดือน โดยอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม) และการติดตามการเยี่ยมบ้านผู้ป่วยกระดูกหักโดยเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล (รพ.สต.) และทีมเวชกรรมสังคมโรงพยาบาลในพื้นที่ที่รับผิดชอบ และมีการประสานกับกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพจังหวัดในการปรับสภาพแวดล้อมบ้านภายในบ้านผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงแต่ไม่มีกำลังทรัพย์เพียงพอในการแก้ไข

ทั้งนี้พบว่า  ในช่วงปี 2563-2565 แนวโน้มผู้ป่วยกระดูกสะโพกหักลดลง และจำนวนผู้ป่วยกระดูกหักจากการพลัดตกหกล้มที่ได้รับการผ่าตัดมีสัดส่วนเพิ่มสูงขึ้นจาก 90.4% เป็น 94% ผู้ป่วยกระดูกสะโพกหักซ้ำในเขต อ.เมืองมีแนวโน้มลดลง แต่ในต่างอำเภอกลับมีแนวโน้มสูงขึ้น จึงต้องเพิ่มประสิทธิภาพการเยี่ยมบ้านนอกเขตเมืองอย่างต่อเนื่องต่อไป

ด้านนพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)   กล่าวว่า  น่านเป็นจังหวัดพิเศษ ประชากรไม่มาก พื้นที่มีทั้งเมืองและชนบทห่างไกล อำเภอห่างไกลถึง 135 ก.ม. ถึงประชาชนมีเพียง 4แสนคน บริการด้านสาธารณสุขค่อนข้างครบถ้วน จุดเด่นที่รพ.น่านคือการบริการด้านหัวใจแบบครบวงจรทั้งภาวะฉุกเฉินและไม่ฉุกเฉิน รพ.ชุมชนทุกแห่งให้บริการด้านหัวใจได้ที่เราเรียกว่าหัวใจขาดเลือดได้ และบริการอื่นๆที่บริหารจัดการได้ดี โดยเอาผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง การลงมาครั้งนี้เพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการและการบริการของรพ.น่านให้เกิดเป็นผลสำเร็จ

ช่วงบ่ายนพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มอบหมายให้ ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. นำได้คณะเยี่ยมบ้านผู้ป่วยติดเตียงช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ญาติค่อยให้การดูแลเดินทางไปหาหมอที่รพ.ไม่สะดวก ทางรพ.ได้มีการใช้ระบบการเชื่อมข้อมูลสุขภาพระหว่างสถานบริการ (API R1) และการดูแลรักษาทางไกลผ่านระบบ telemedicine ด้วย iTele เข้ามาช่วยดูแลคนไข้ทำให้ผู้ป่วยและญาติที่ดูแลสะดวกสบายยิ่งขึ้น