เมื่อวันที่ 22 มี.ค. 2566 ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และ นพ.เอกรินทร์ อุ่นอบ ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 3 นครสวรรค์ ลงพื้นที่ เพื่อรับฟัง “การบริการคัดกรองการได้ยินของทารกแรกเกิดตามสิทธิประโยชน์ เขตสุขภาพที่ 3” ตลอดจนเยี่ยมชมการจัดบริการคัดกรองการได้ยินของทารกแรกเกิดของโรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ จ.นครสวรรค์โดยมี นพ.อภิชาต วิสิทธิวงษ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์์ โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ นพ.ชวพล อิทธิพานิชพงศ์ ผู้อำนวยการแพทยศาสตร์ศึกษาชั้นคลินิก (ผลิตแพทย์ชนบท) และ นพ.นรุตม์ วงศ์สาคร ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านยุทธศาสตร์และแผนงานโครงการ พร้อมคณะฯ ร่วมต้อนรับ
ทพ.อรรถพร กล่าวว่า ในปี 2566 คาดการณ์ว่าจะมีเด็กแรกเกิดจำนวน 555,200 คน เมื่อคำนวณต้นทุนบริการและค่าวัสดุจากข้อมูลของโครงการเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ(HITAP)จะใช้งบประมาณจำนวน 17.27 ล้านบาท ที่สามารถเบิกจ่ายในงบประมาณในส่วนบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคได้ สปสช.จะประสานความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข ในการเตรียมความพร้อมของระบบคัดกรองและระบบส่งต่อเพื่อให้เกิดการดูแลอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการพัฒนาศักยภาพบุคลากรและจัดหาเครื่องมือสำหรับการตรวจคัดกรองเพื่อสนับสนุนการจัดบริการ
ทพ.อรรถพร กล่าวต่อไปว่า ประสาทหูเสื่อมแต่กำเนิดพบได้ 1-3 คนต่อ 1,000 ทารกมีชีพปกติ และพบ 2-4 คนต่อ 100 ทารกที่อยู่ในหอผู้ป่วยวิกฤต ซึ่งความผิดปกตินี้ไม่สามารถทราบได้จากการตรวจร่างกายทั่วไป หากไม่ได้รับการตรวจคัดกรองการได้ยินตั้งแต่แรกเกิดจะทำให้วินิจฉัยและฟื้นฟูภาวะประสาทหูเสื่อมแต่กำเนิดได้ช้าและมีผลต่อพัฒนาการทางภาษาของเด็ก โดยเฉพาะเด็กในช่วงอายุ 3 ปีแรก หากมีความผิดปกติทางการได้ยินจะส่งผล กระทบโดยตรงกับพัฒนาการทั้งการพูด ภาษา การเข้าสังคม การเรียน ภาวะจิตใจ และการสูญเสียโอกาสทางสังคม
ทั้งนี้ คณะกรรมการ สปสช. มีมติเมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2563 ให้เพิ่มสิทธิประโยชน์การตรวจคัดกรองการได้ยินในทารกแรกเกิดกลุ่มเสี่ยง และการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมในกรณีที่ตรวจคัดกรองแล้วมีปัญหาประสาทหูเสื่อมแต่กำเนิด และเริ่มดำเนินการอย่างเป็นทางการในปี 2564 เป็นต้นมา ในส่วนของการดำเนินการคัดกรองการได้ยินของทารกแรกเกิดในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 3 นั้น ได้วางระบบให้มีการคัดกรองทารกแรกเกิดทุกรายด้วยเครื่องตรวจวัดการสะท้อนกลับของเสียงในหูชั้นใน ( OAE) หากพบความผิดปกติจะมีการตรวจซ้ำภายใน 1 เดือน และหากยังตรวจไม่ผ่าน จะตรวจด้วยเครื่องตรวจวัดการได้ยินระดับก้านสมอง(ABR/ASSR) หากผิดปกติแนะนำใส่เครื่องช่วยฟังหรือผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมเมื่อมีข้อบ่งชี้ ภายในอายุ 4 ขวบ
ด้านนพ.เอกรินทร์ กล่าวว่า สำหรับเป้าหมายการตรวจคัดกรองการได้ยินในทารกแรกเกิด ปีงบประมาณ 2566 เขตสุขภาพที่ 3 มีกลุ่มเป้าหมายในการคัดกรอง 20,855 ราย ซึ่ง สปสช.สนับสนุนด้วยการจ่ายชดเชยค่าบริการแบบเหมาจ่าย 232.22 บาท/ราย ซึ่งขณะนี้โดยภาพรวมจังหวัดสามารถตรวจคัดกรองได้ 43.8% พบว่ามีความผิดปกติและตรวจวินิจฉัยพบภาวะประสาทหูเสื่อมแต่กำเนิด 4 ราย ได้รับการใส่เครื่องช่วยฟังและรอผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมในรายที่มีข้อบ่งชี้
ด้านนพ.อภิชาต กล่าวว่า โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ได้ดำเนินการตรวจคัดกรองเด็กแรกเกิดตั้งแต่ปี 2562-2565 รวมจำนวน 13,602 ราย โดยคัดกรองได้ 92% ของผู้มารับบริการ มีแผนพัฒนาตรวจคัดกรองการได้ยินในทารกที่โรงพยาบาลชุมชนร่วมกับสสจ.นครสวรรค์ในปี 2566 ช่วยลดการเดินทางของมารดาหลังคลอด และวางแผนเปิดศูนย์ผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมภายในปี 2569 เพื่อให้ประชาชนในเขตสุขภาพที่ 3 และเขตสุขภาพใกล้เคียงได้รับประโยชน์ ลดการเดินทางไปผ่าตัดที่โรงเรียนแพทย์ในกรุงเทพ และลดความพิการทางการได้ยินในทารก
ด้านน.ส.ธนวดี ใจปั่น อายุ 39 ปี ชาวนครสวรรค์ ทำธุระกิจส่วนตัว เพิ่งคลอดลูกคนที่ 2 โดยคนแรกได้ลูกสาว คนที่2 ลูกชาย คนปัจจุบัน เกิดได้ 2 วัน โดยคลอดก่อนกำหนด จริงแล้วต้องคลอดวันที่ 15 เม.ย.66 แต่เจ็บท้องก่อนเลยต้องผ่าออก และปรากฎว่าลูกตัวเหลืองต้องอยู่ในตู้อบ น้ำหนัก 2.6 กิโลกรัม พอออกจากตู้อบเหลือ 2.5 กิโลกรัม โดยอยู่ในตู้อบประมาณ 2 คืน
“แรกๆ ก็มีความกังวลใจที่ลูกต้องมาตรวจคัดกรองการได้ยิน เพราะกลัวว่าลูกจะเป็นใบ้เห็นบอกให้ลูกมาตรวจพอเจ้าหน้าอธิบายเริ่มคลายกังวลและเข้าใจถึงผลดีของการตรวจคัดกรองตั้งแต่แรกเกิด ซึ่งการตรวจคัดกรองการได้ยินของเด็กทารกซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้ายก่อนที่จะออกจากรพ. คุยกับแม่ๆหลายคนที่คลอดในรพ. ต่างพูดว่าสบายใจที่ลูกๆตรวจแล้วไม่พบปัญหา” น.ส.ธนวดี กล่าว